xs
xsm
sm
md
lg

คร.แจง “โควิด” โรคประจำถิ่นต้องรอประเมิน “ภูเก็ต-กทม.” ใกล้เงื่อนไขทำแผนมากสุด คาด พ.ค.แยกตัวเลขตายได้ชัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรค แจงโควิด” สู่โรคประจำถิ่น ยังต้องประเมินสถานการณ์ภาพรวมประเทศและรายจังหวัด การติดเชื้อต้องคงตัว ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเกิน 60% ยังไม่มีจังหวัดใดทำได้ มีแค่ภูเก็ต-กทม.ที่ใกล้เคียงที่สุด หากผ่านเงื่อนไขถึงทำแผนเสนอ ศบค. เป็นแซนด์บ็อกซ์นำร่องต่อไป มีการตรวจสอบการดำเนินการ ย้ำยังไม่พบกลายพันธุ์ที่มีปัญหา ส่วนตายจากโควิดพบ 30-40% ตายแบบมีโควิดร่วม 60-70% คาด พ.ค.แยกตัวเลขชัดเจนขึ้น

เมื่อวันที่ 27 เม.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การเข้าสู่โรคประจำถิ่นของโรคโควิด-19 มีการเตรียมความพร้อม ทั้งเรื่องการฉีดวัคซีน ระบบสาธารณสุขและความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ อย่างไรก็ตาม ตามที่เสนอ ศบค.ไปมีราว 12 จังหวัด ที่เริ่มเป็นขาลง ซึ่งจะต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ทั้งภาพรวมประเทศและรายจังหวัด ขณะนี้ยังเป็นไปตามคาดการณ์ว่าหลังสงกรานต์น่าจะขึ้นหรือคงที่ ปัจจุบันดูเหมือนคงที่และแนวโน้มค่อยๆ ลดลงจากการดูข้อมูลตัวเลขในส่วนต่างๆ ซึ่งการที่หลังสงกรานต์สถานการณ์ไม่ได้เพิ่มมากขึ้น เป็นเพราะความร่วมมืออย่างดีของประชาชน ส่วนใหญ่ยังเคารพกติกา ช่วงสงกรานต์มีการพาผู้สูงอายุมาฉีดวัคซีนพอสมควร ทำให้สถานการณ์ไม่ได้พุ่งขึ้นไปมาก เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

ผู้สื่อข่าวถามถึงปัจจัยเสี่ยงจากนี้ที่จะทำให้ตัวเลขพุ่งขึ้น นพ.โอภาส กล่าวว่า 1. เชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์อีกหรือไม่ เท่าที่ติดตามยังไม่มีการกลายพันธุ์อะไรมาก ยังเป็นสายพันธุ์ย่อยๆ แต่ย้ำว่าเชื้อมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สำคัญคือกลายพันธุ์แล้วติดง่ายขึ้น รุนแรงขึ้น หรือดื้อต่อวัคซีนและการรักษาหรือไม่ เท่าที่ติดตามยังไม่มี แต่ก็คาดเดาไม่ได้ และไม่ควรตื่นกลัวเกินไป เมื่อไรที่กลายพันธุ์และเกิดสิ่งเหล่านี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะรีบแจ้งประชาชน ถ้ากลายพันธุ์เล็กน้อยไม่ต้องตื่นกลัว ให้นักวิทยาศาสตร์ติดตามไป 2. บุคคล ขณะนี้ประเทศไทยฉีดเข็ม 1 แล้วกว่า 80% ผู้สูงอายุฉีดกว่า 10 ล้านโดสแล้ว เข็มบูสเตอร์คงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าหากคนมีภูมิคุ้มกันทั้งจากวัคซีนและติดเชื้อ เมื่อติดเชื้อซ้ำโอกาสเกิดน้อยลงและอาการไม่รุนแรง และ 3. ระบบสาธารณสุข รู้จักโควิดมากขึ้น รู้ว่าถ้าฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อมีอาการน้อยไม่ต้องกินยาก็ได้ และมียาใหม่ๆ ในการรักษาผู้ที่มีอาการหนักหรือมีความเสี่ยง

“ทุกอย่างเป็นตามแผนการคาดการณ์ ที่เหลือเป็นเรื่องของกิจกรรมต่างๆ ว่าจะทำอะไรบ้าง ปัจจุบันสามารถทำได้เกือบหมด เหลือเพียงการเปิดผับบาร์ คาราโอเกะอย่างเป็นทางการ ซึ่งก็อยู่ในไทม์ไลน์ที่จะดำเนินการ ส่วนระยะต่อไปใน พ.ค. ก็ยกเลิก Test&Go หากฉีดวัคซีนแล้วและมีประกันสุขภาพก็เข้ามาได้เลยแล้วตรวจ ATK เองเหมือนคนไทย หากไม่ฉีดวัคซีนแต่มีผลตรวจหาเชื้อใน 72 ชั่วโมงก็เข้าได้ตรวจ ATK ส่วนไม่ฉีดวัคซีน ไม่ตรวจ ก็เข้าระบบกักตัวที่ลดเหลือ 5+5 วัน และคงประเมินอีกทีหลัง 1 พ.ค.และดูตามขั้นตอนตอ่ไป” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า ช่วงเปิดเทอม พ.ค. เด็กมัธยมฉีดวัคซีน 80-90% ครูเกือบ 100% ส่วนเด็กประถมฉีดเข็ม 1 ไปประมาณ 50-60% ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะเร่งฉีดให้เสร็จหลังเปิดเทอมประมาณ 1 เดือน ก็น่าจะคลี่คลายไปได้ และเปิดเทอมแบบออนไซต์ให้มากที่สุด และถ้าเจอเด็กติดเชื้อก็อย่าตื่นตระหนก แผนเผชิญเหตุโรงเรียนมีการเตรียมการแล้ว แต่การไม่ติดเชื้อดีกว่า จึงยังคงต้องมีมาตรการป้องกันส่วนบุคคล ถ้าผ่าน พ.ค.ไปได้ ทุกอย่างก็จะเป็นไปตามแผนที่กำหนด

“แนวโน้มทั่วโลกอยู่ทิศทางขาลงเช่นกัน แนวโน้มจะให้การเดินทางและการดำเนินชีวิตกลับมาเป็นปกติให้ได้มากที่สุด ของประเทศไทยก็เป็นแนวนี้ตามลำดับอย่างเป็นขั้นตอน แต่ไม่ได้จะเอาตามต่างประเทศ 100% ต้องดูแนวโน้มโลก สถานการณ์ประเทศ บริบทที่ทำปรับให้เข้าสถานการณ์” นพ.โอภาส กล่าว

เมื่อถามถึงแนวโน้มการลดลงของผู้เสียชีวิต นพ.โอภาส กล่าวว่า หลายประเทศกำลังมองถึงเรื่องการเสียชีวิตจากโควิด 19 คือ ติดเชื้อแล้วมีอาการโควิดชัด เช่น ปอดอักเสบ และเสียชีวิตโดยมีโควิด 19 ร่วมด้วย เช่น เป็นมะเร็งอาการแย่ลงไปรับรักษาแล้วตรวจพบติดโควิด พยายามจะแยกให้ชัดเจน ซึ่งหลายประเทศทำแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งราว พ.ค.จะมีรายละเอียดให้เห็น ทั้งนี้ ข้อมูลที่มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ให้ตัวเลขในที่ประชุม EOC สธ. 3-4 วันก่อน จะเป็นเสียชีวิตจากโควิดประมาณ 30-40% และเสียชีวิตโดยติดโควิดร่วม 60-70% กำลังพิจารณาข้อมูลทั้งหมด ซึ่งทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตของไทยดูเหมือนสูงเพราะรายงานทุกอย่างที่มี

ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงค์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีจังหวัดใดสามารถเข้าใกล้สู่การกลายเป็นโรคประจำถิ่น เงื่อนไขสำคัญของการเป็นโรคประจำถิ่น คือ 1.สถานการณ์ติดเชื้อทรงตัว ไม่ได้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น 2.มีการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเกิน 60% ของจำนวนประชากร และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป รับวัคซีนเข็ม 1 เกิน 80% และเข็มกระตุ้นเกิน 60% หากประเมินตามหลักเกณฑ์นี้ จะมีแค่ภูเก็ตที่มีลุ้นเป็นจังหวัดนำร่องเข้าสู่โรคประจำถิ่น เนื่องจากอัตราการรับวัคซีนภาพรวมของประชากรอยู่ที่ 55% รองลงมา กทม.อยู่ที่ 50% หากทุกจังหวัดผ่านเงื่อนไขนี้ก็จะมาเข้าสู่กระบวนการที่ ศบค.ประกาศ คือ ให้ทุกจังหวัดทำแผน จากนั้นปฏิบัติตามแผนเพื่อพร้อมเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ทำในลักษณะของแซนด์บ็อกซ์ คาดว่าจะมีการนำเสนอต่อ ศปก.สธ. และ เสนอต่อที่ประชุม ศบค.ต่อไป หรือ ราวกลาง พ.ค. น่าจะมีการทดลองทำตามแผนการเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นในแต่ละจังหวัด

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า แผนสำคัญคือต้องใช้ได้จริง เพราะต้องเปิดกิจกรรมกิจการต่างๆ ตามปกติ ไม่มีการสวมหน้ากากอนามัย ประกอบด้วย 1. ให้ผู้ประกอบการจัดทำแผนรับมือกับสถานการณ์โรคที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งเรื่องของการกลายพันธุ์ เพื่อรับมือกับสถานการณ์จริง 2. มีหน่วยงานกำกับดูแลตรวจสอบที่ชัดเจน เพื่อติดตามกำกับผู้ประกอบการ เช่น การปิดเปิดสถานประกอบการ ผับบาร์ ไม่ใช่เปิดเกินเวลา และ 3. ประชาชนต้องร่วมสังเกตการณ์ ติดตามกับมาตรการต่างๆ และแจ้งเบาะแสหากพบเห็นการไม่ปฏิบัติตามแผน ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้จะมีการตรวจสอบกันเอง เพื่อให้การทดลองเปิดกิจกรรมกิจการต่างๆ มีความรัดกุม พร้อมการเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นในวันที่ 1 ก.ค.


กำลังโหลดความคิดเห็น