xs
xsm
sm
md
lg

ประเมิน “โควิด” หลังสงกรานต์ 2 สัปดาห์ ย้ำ 3 มาตรการสกัดป่วยหนักพุ่งต้น พ.ค.นี้ หากลดลงเข้าโรคประจำถิ่นได้ 1 ก.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.เผยสถานการณ์โควิดไทยเริ่มลดลง แต่ป่วยหนักและเสียชีวิตยังเพิ่มขึ้น จับตา 2-4 สัปดาห์ หลังสงกรานต์ติดเชื้อเพิ่มหรือไม่ ย้ำ เข้ม 3 มาตรการสกัดแพร่เชื้อสู่กลุ่มเสี่ยง ลดป่วยหนักและเสียชีวิตที่อาจเพิ่มขึ้นช่วงต้น พ.ค. เร่งฉีดวัคซีนต่อเนื่อง เฝ้าระวังกลุ่ม 70 ปีขึ้นไป ป่วยเรื้อรัง สถานที่รวมกลุ่มเสี่ยงเกิดคลัสเตอร์ หากสถานการณ์ลดลงจริง อาจเข้าโรคประจำถิ่นได้ตามเป้าหมายเดิม 1 ก.ค.

เมื่อวันที่ 18 เม.ย. นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด-19 หลังสงกรานต์ ว่า ภาพรวมสถานการณ์โควิด 19 ทั่วโลกเริ่มลดลง เช่น เกาหลีใต้ จากติดเชื้อสัปดาห์ละ 2 ล้านกว่าคน เหลือ 1 ล้านกว่าคน หลายประเทศแม้การติดเชื้อลดลงแต่มีผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตจำนวนมาก เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี เกาหลีใต้ เวียดนาม ญี่ปุ่น เป็นต้น สำหรับประเทศไทยวันนี้รายงานผู้ป่วยปอดอักเสบ 2,123 ราย เพิ่มขึ้น 44 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 939 ราย เพิ่มขึ้น 28 ราย ยังต่ำกว่าช่วงเดลตาปีที่แล้วที่มีปอดอักเสบ 5 พันกว่าราย ใส่ท่อช่วยหายใจประมาณ 1,400 ราย แต่ผู้ป่วยอาการหนักยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อัตราครองเตียงผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงรวมเกือบ 30% ถือว่ายังมีเตียงรองรับอาการหนัก ส่วนจังหวัดที่มีอัตราครองเตียงเพิ่มขึ้นเกิน 50% จะเพิ่มจำนวนเตียงรองรับทันที

สำหรับผู้เสียชีวิตวันนี้ 124 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 607 โดยเฉพาะอายุ 70 ปีขึ้นไป มีโรคเรื้อรังประจำตัว ฉีดวัคซีนไม่ครบ 3 เข็ม แนวโน้มผู้เสียชีวิตยังเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับผู้ป่วยอาการหนักและใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งเป็นผลมาจากการติดเชื้อจำนวนมากก่อนช่วงสงกรานต์ ทั้งนี้ หลังสงกรานต์ต้องรณรงค์อย่างต่อเนื่องให้มารับวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มโรคเรื้อรังที่เสี่ยงป่วยหนักและเสียชีวิตสูง เช่น โรคไต โรคทางเดินหายใจ หลอดเลือดและสมอง ซึ่งมีการสร้างภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดี ควรไปรับวัคซีนต่อหลังสงกรานต์นี้

“ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา มีแนวโน้มการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นใน รพ.สต. และ รพ.ต่างๆ โดยขณะนี้กลุ่ม 60 ปีขึ้นไป ฉีดเข็มสามประมาณ 39.4% ขอให้พาญาติผู้ใหญ่ไปฉีดพิ่มขึ้นให้ถึง 70-80% จะช่วยลดความเสี่ยงเหมือนช่วงต้นปี 2565 ที่ผู้สูงวัยเสียชีวิตไม่มาก ส่วนเด็กอายุ 5-11 ปี ฉีดเข็มแรกแล้ว 49.5% ยังเหลืออีกครึ่งหนึ่ง ก่อนเปิดเทอมขอให้รณรงค์ให้ฉีดกันให้ครบ วัยทำงานที่ฉีด 2 เข็มเกิน 3 เดือน ก็ฉีดเข็มสาม เกิน 4 เดือนก็ฉีดเข็ม 4 จะช่วยลดการป่วยหนักได้" นพ.จักรรัฐกล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่ วันนี้ 16,994 ราย ค่าเฉลี่ย 14 วัน 22,176 ราย กำลังรักษา 205,514 ราย ลดลงไปเกือบหมื่นราย โดยรักษาใน รพ.จาก 6 หมื่นกว่ารายเหลือ 5 หมื่นกว่าราย ภาพรวมยังคงเตือนภัยระดับ 4 อย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ทั้งนี้ สถานการณ์ติดเชื้อดูลดลง ทั้งการตรวจ RT-PCR และ ATK แต่อาจจะไม่ได้ลดลงจริง เนื่องจากยอดตรวจ RT-PCR และ ATK ก็ลดลงด้วย ทั้งยังต้องติดตามหลังสงกรานต์อีก 2-4 สัปดาห์ต่อจากนี้ จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหรือไม่ หลังมีการรวมกลุ่มกิจกรรม เดินทางไปทั่วประเทศ มีกิจกรรมรดน้ำดำหัว เที่ยวสงกรานต์ในหลายจังหวัด แต่พบว่าหลายส่วนจัดงานที่ค่อนข้างปลอดภัย มีการสวมหน้ากากอนามัยครบถ้วน

“แนวโน้มสถานการณ์ผู้ติดเชื้อจากการตรวจทั้ง RT-PCR และ ATK ในสถานพยาบาลเริ่มลดลง กลุ่มวัยแรงงานที่เคยตรวจเจอการติดเชื้อเยอะก็ยังพบได้อยู่ แต่ส่วนใหญ่ตรวจ ATK ด้วยตนเอง กักตัวดูแลรักษาที่บ้าน ทำให้ตัวเลขไม่ได้ไปที่สถานพยาบาลทั้งหมด แต่แนวโน้มก็เริ่มลดลง ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจที่สูงขึ้น เป็นผลมาจากการติดเชื้อจำนวนมากก่อนช่วงสงกรานต์ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ทำให้แพร่สู่กลุ่มเสี่ยงป่วยอาการหนักจำนวนมาก แต่ถือว่ายังเป็นไปตามคาดการณ์ ว่าช่วงก่อนสงกรานต์การติดเชื้อเพิ่มขึ้น และหลังสงกรานต์ตัวเลขการติดเชื้ออาจลดลง ถ้ามีการป้องกันควบคุมที่ดี ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบและเสียชีวิตจะเป็นผลตามมาสัก 2-4 สัปดาห์หลังจากนี้” นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ช่วงหลังสงกรานต์เพื่อไม่ให้ติดเชื้อมากขึ้นจนแพร่ไปยังกลุ่มเสี่ยงสูง ต้องทำ 3 มาตรการหลักๆ คือ 1. ผู้ที่ไปต่างจังหวัด รวมกลุ่มทำกิจกรรมจำนวนมาก รับประทานอาหารร่วมกับคนเสี่ยงสูง ใช้เวลานาน กลับมาสังเกตอาการตนเอง 5-7 วัน ถ้ามีป่วย ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล รับรสและกลิ่นไม่ค่อยดี สงสัยตรวจ ATK ด้วยตนเองหรือไป รพ. 2. หลีกเลี่ยงพบปะผู้คนจำนวนมาก หากต้องเจอคนอื่น สวมหน้ากากตลอดเวลาเพื่อลดความเสี่ยง ถ้าเป็นไปได้หลังกลับสงกรานต์ รับประทานอาการโต๊ะใครโต๊ะมัน หลีกเลี่ยงการรับประทานร่วมกันสักระยะ ลดความเสี่ยงแพร่ระบาดต่อคนอื่น และ 3. หน่วยงานต่างๆ มีมาตรการทำงานที่บ้าน (Work From Home) 5-7 วันตามเหมาะสม จะช่วยให้หลังสงกรานต์ปลอดภัยไม่ติดเชื้อเพิ่ม และไม่มีผู้ป่วยปอดอักเสบเพิ่มขึ้น ส่วนผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีน ไม่ครบเกิน หรือรับเกิน 3 เดือนไปแล้ว ขอให้ช่วยกันสื่อสารหลังสงกรานต์ว่า ต้องเน้นทำตัวเองให้ปราศจากเชื้อ Self Clean Up คือ ทำงานที่บ้าน ตรวจ ATK ก่อนกลับไปทำงาน แม้จะเป็นลบก็ต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา ป้องกันรับหรือเชื้อแพร่เชื้อ, Universal Prevention การไปใกล้ชิดผู้สูงวัย เด็กเล็ก ป่วยโรคเรื้อรัง การจะรับประทานอาหารด้วยขอให้งดหรือเลี่ยงมากที่สุดในช่วงนี้ และทุกกลุ่มอายุให้ฉีดเข็มกระตุ้นตามกำหนด โดยเฉพาะวัยเรียน หากติดเชื้อแม้ไม่มีอาการ แต่อาจมีภาวะลองโควิดตามมาได้

“ตามปกติถ้ามีการติดเชื้อเริ่มสูงขึ้น อีก 2-4 สัปดาห์ถัดมา จะมีผู้ป่วยปอดอักเสบ และเสียชีวิตสูงขึ้นตาม ถ้าแนวโน้มการรติดเชื้อลดลง การแพร่ไปสู่ 607 อาจลดลงตามด้วย ก็อาจพบการป่วยหนักและเสียชีวิตลดลงในช่วงถัดไป ช่วงนี้ยังต้องติดตามกลุ่มผู้สูงวัยและป่วยเรื้อรัง ว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากน้อยเท่าไร ถ้าดูจากอัตราเสียชีวิต กลุ่มอายุ 70 ปีกำลังเพิ่มขึ้น ดังนั้น กลุ่มเสี่ยงต่างๆ ทั้งผู้สูงวัยที่บ้าน และตามศูนย์ดูแลผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นหลังสงกรานต์นี้ การเฝ้าระวังกลุ่มนี้จึงสำคัญมากและต้องเร่งฉีดวัคซีน อีกกลุ่มคือที่จะมีการรวมกลุ่มมากๆ ทำให้เกิดคลัสเตอร์ เช่น ค่ายทหาร โรงเรียนที่เปิดเทอมจากนี้ การติวพิเศษเข้าแคมป์ต่างๆ แคมป์คนงาน” นพ.จักรรัฐ กล่าว

เมื่อถามว่า ช่วงสงกรานต์หลายแห่งมีการจัดกิจกรรมรวมตัวหนาแน่น โดยเฉพาะสถานบันเทิง จะเกิดเป็นคลัสเตอร์หรือไม่ และจะเป็นไปตามฉากทัศน์ที่อาจติดเชื้อวันละแสนรายหรือไม่ นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ช่วงสงกรานต์มีหลายจังหวัดจัดงาน ทั้ง กทม. และต่างจังหวด มีการรวมกลุ่มจำนวนมาก ดูจากภาพข่าวแล้วหลายแห่งปฏิบัติตามรูปแบบ COVID Free Setting สวมหน้ากากเข้าร่วมงาน ไม่สาดน้ำตามมติ ศบค. การรวมกลุ่มหลายส่วนก็มีโอกาสเป็นคลัสเตอร์ได้ มีการติดตามรายงานคลัสเตอร์ไหม ช่วงนี้ก็เริ่มมีรายงานเข้ามาบ้างหลังกลับมาจากสงกรานต์ กลับไปทำงานในโรงงาน สถานประกอบการต่างๆ แต่ยังเป็นคลัสเตอร์ขนาดเล็ก ไม่พบขนาดใหญ่ ซึ่งก่อนสงกรานต์พบการติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดในครอบครัวและที่ทำงาน ปัจจัยเสี่ยง คือ กินข้าว ดื่มด้วยกัน ทำกิจกรรมรวมกลุ่มถอดหน้ากากเป็นเวลานาน ทำให้ติดเชื้อแพร่ต่อได้ คลัสเตอร์จึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่โอมิครอนไม่มีอาการ จะทราบอีกทีตอนกลับจากสงกรานต์มาทำงานตรวจ ATK แล้วเจอ จึงแนะนำว่าตรวจ ATK สังเกตอาการป่วย ให้มั่นใจว่าไม่มีอาการป่วยก่อนกลับมาทำงาน

“เป็นตามฉากทัศน์หรือไม่ ซึ่งสูงสุดคือเส้นสีแดง ตอนนี้ลักษณะติดเชื้อทั้ง RT-PCR และ ATK รวมกัน ตัวเลขยังไม่ถึงระดับแสนรายหรือเส้นสีแดง ก็จะต้องติดตามสถานการณ์อีก 2-4 สัปดาห์ ซึ่งจะสอดคล้องกับสถานการณ์ปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ อาจสูงขึ้นช่วงต้น พ.ค. จะต้องดูช่วง 2-4 สัปดาห์ว่าจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่ถ้าดูจากกราฟแนวโน้มเริ่มลดลงช่วงสงกรานต์ สถานการณ์ที่อาจพบการติดเชื้อจำนวนมาก ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดอีกสักระยะ” นพ.จักรรัฐ กล่าว

ถามว่า การติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลังสงกรานต์จะกระทบโรคประจำถิ่น นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ต้องดูเกณฑ์ต่างๆ แต่หลักๆ สถานการณ์สำคัญ คือ อัตราครองเตียงว่าระบบสาธารณสุขรองรับมากน้อยขนาดไหน ปัจจัยอีกอันคือผู้ป่วยติดเชื้ออาการน้อยของโอมิครอน ถ้าไม่มีสายพันธุ์ใหม่ที่อาการรุนแรงมากขึ้น ในวัยทำงานและวัยเรียนอาการไม่เยอะมาก จำนวนผู้ติดเชื้อคงมีผลน้อยต่อเรื่องการปรับเป็นโรคประจำถิ่น ต้องติดตามสถานการณ์อาการหนักมากกว่า คือ ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ถ้าเป็นไปตามแนวโน้มที่คาดการณ์ไว้เราน่าจะเข้าสู่โรคประจำถิ่นตามเป้าหมายเดิม คือ วันที่ 1 ก.ค.


กำลังโหลดความคิดเห็น