xs
xsm
sm
md
lg

ศิริราช เตือนอย่าประมาท “โควิด” ยังไม่ถึงโรคประจำถิ่น มีโอกาสระบาดอีก ย้ำฉีดบูสต์-ใส่หน้ากาก-ตรวจ ATK

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศิริราช เผยโควิด” มีแนวโน้มสู่โรคประจำถิ่น แต่ยังไม่ถึง ขออย่าประมาท ยังมีโอกาสกลายพันธุ์กลับมาระบาด อย่าละเลยสิ่งที่ทำมาตลอด 2 ปี ยังต้องเข้มใส่หน้ากาก ตรวจ ATK เมื่อสงสัย ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ว่า ทิศทางเป็นโรคประจำถิ่น จากข้อมูลโอมิครอนเกือบ 5 เดือน ทั่วโลกยังเหมือนกัน คือ ความรุนแรงต่ำกว่าเดลตา แต่แพร่เร็วกว่า ทำให้นักวิชาการจำนวนไม่น้อยมองว่า น่าจะถึงเส้นที่โควิดจะเดินทางไปสู่โรคประจำถิ่น และคนก็อยากให้เห็นโควิดสู่ปลายทางระบาด เพราะเหนื่อยล้าจากตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

“นิยามกว้างๆ ของโรคประจำท้องถิ่น คือ พบได้สม่ำเสมอในกลุ่มคน กลุ่มพื้นที่ หรือช่วงเวลาที่คาดการณ์ได้ อาจมีการระบาดมากบ้างเป็นครั้งคราว ไม่เกินระดับที่คาดหมาย ทั่วไปเป็นโรคที่มีมาตรการหรือวิธีการควบคุม ย้ำว่า ยังมีอัตราการเสียชีวิตได้ อย่างโรคมาลาเรียหรือไข้ป่า ตอนนี้ยังคร่าชีวิตคนปีละกว่า 4 แสนราย หรือเริม อาจพบได้มากถึงครึ่งหนึ่งของประชากรบางพื้นที่ แต่เพียงมีอาการไม่มาก ทั้งนี้ สถานการณ์เวลานี้ โควิดยังไม่เข้าข่ายของโรคประจำถิ่น และยังมีโอกาส แม้จะดูไม่มากที่กลับเกิดการแพร่ระบาดใหญ่อีก จึงไม่อยากให้ประมาท” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า หลายประเทศเริ่มมีนโยบายให้เกิดสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ ประเทศไทยก็เช่นกัน ซึ่งมองให้ดีก็อาจเป็นปัจจัยความเสี่ยงให้โควิดกลับมาแพร่ระบาด แต่เราก็ต้องวิ่งไปให้เศรษฐกิจดีขึ้น ต้องบริหารความเสี่ยงของโควิด เน้นป้องกันและรักษา สำหรับไวรัสที่แพร่กระจายมากมายจะป้องกันไม่ให้ติดเชื้อค่อนข้างยาก แต่ลดการติดเชื้อได้ หากติดเชื้อแล้วไม่รุนแรง และไม่เสียชีวิตจะเป็นเป้าหมายที่ดี การป้องกันความเสียหายของโควิดดีที่สุดเวลานี้ คือ ฉีดวัคซีน 2 เข็มหลักและเข็มกระตุ้น คู่ขนานกับการใส่หน้ากากอนามัย โดยโควิดเมื่อกลายพันธุ์ประสิทธิภาพวัคซีนจะลดลง มาตรการการป้องกันตัวเองสำคัญ ใส่หน้ากากอนามัย และตรวจ ATK เมื่อจำเป็น สำหรับสมดุลการรักษาโควิดโอมิครอน ไม่เน้นการรักษาใน รพ. เพราะอาการไม่รุนแรง ซึ่งเมื่อไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง จึงมีแนวโน้มให้รักษานอก รพ. เฝ้าติดตามผ่านระบบลงทะเบียน เพื่อให้เตียงใน รพ.ว่างดูแลคนป่วยโรคอื่นที่จำเป็นต้องรักษาใน รพ.

“กลุ่มเสี่ยงไม่ใช่แค่ 608 แต่คนไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือฉีด 2 เข็มเกิน 3 เดือน หากมีอาการ แม้เล็กน้อยก็ต้องรีบเข้า รพ. จากการติดตามข้อมูล 6-8 สัปดาห์ แต่ละวันพบว่าคนเสียชีวิต 50-60% ไม่ได้ฉีดวัคซีน และไทยยังมีคนไม่ได้ฉีดวัคซีนอีกกว่า 2 ล้านคน และพบว่า 30% หรือ 1 ใน 3 คือคนที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว 2 เข็ม และเข็ม 2 เกิน 3 เดือนแล้ว และไม่ได้กลับม าฉีด อีกทั้งยังมี 10% ฉีดไปแล้ว 1 เข็ม แต่ไม่ฉีดต่อ รวมๆ 3 ตัวเลขนี้เกือบ 90% ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ฉีดวัคซีนไม่สมบูรณ์จะเสี่ยงด้วย” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ความเสี่ยงประจำตัวเรา อย่างเป็นโรคประจำตัว สูงอายุ แต่ความเสี่ยงจากไม่ได้ฉีดวัคซีนแก้ได้ด้วยการไปฉีดวัคซีน ซึ่งโควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นแต่ละประเทศเกิดไม่พร้อมกัน เพราะมีปัจจัยแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ทั้งปัจจัยวัคซีน อุปกรณ์ครุภัณฑ์การรักษาพยาบาล แต่ละประเทศจะประกาศไม่พร้อมกัน ภายใต้นิยามไม่เหมือนกัน ซึ่งเมื่อวันที่ 14 เม.ย. องค์การอนามัยโลกเตือนอย่างเป็นทางการ ว่า โควิดยังไม่ได้เข้าสู่สถานการณ์เป็นโรคประจำถิ่น แม้มีแนวโน้มแต่ยังไม่ถึง และอาจเกิดการกลายพันธุ์ และบางประเทศอาจเกิดการระบาดใหญ่ได้อีก สรุปคือ อย่าด่วนตัดสิน จนละเลยสิ่งต่างๆ ที่เราทำกันมา 2 ปี” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ความสำเร็จจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของ 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่กำหนดมาตรการและนโยบาย ต้องมีความรอบคอบในการกำหนดมาตรการ ต้องชัดเจนเพื่อเอาไปปฏิบัติ , ฝ่ายดำเนินการตามมาตรการและนโยบายต้องมุ่งมั่น รับผิดชอบ ซึ่งไม่ใช่บุคลากรสุขภาพ แต่ผู้ประกอบการด้วย และฝ่ายที่ได้รับผลจากมาตรการและนโยบาย ต้องได้รับความร่วมมือและมีวินัยในการดูแลตัวเอง ปัจจัยสำคัญของช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ คือ การฉีดวัคซีนจำเป็นต้องเข็มกระตุ้น และการเตรียมความพร้อมของระบบการดูแลสุขภาพ คือ คน ของ เตียง และการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะช่วยกันป้องกันการรับเชื้อและแพร่เชื้อ


กำลังโหลดความคิดเห็น