สสส. ร่วมภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่ จ.นครพนม ต้นแบบลดอุบัติเหตุทางถนน ‘1669 Model’ ลดอุบัติเหตุ เน้นบูรณาการภาครัฐ-ประชาสังคม-ชุมชน เตรียมพร้อมอาสาจราจร สร้างเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนร่วมกันในพื้นที่
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการลงพื้นที่ศึกษาดูงาน “พื้นที่ต้นแบบการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดนครพนม” ในการพัฒนาและเชื่อมภาคีเครือข่ายเพื่อป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับจังหวัดและตำบล ปี 2565 ว่า จังหวัดนครพนม ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในการลดอุบัติเหตุทางถนน โดยเกิดจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายระดับจังหวัด และท้องถิ่นที่สำคัญ ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ประกอบกับเครือข่ายสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) และมี “ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนตำบลบ้านผึ้ง” (ศปถ.ตำบลบ้านผึ้ง) เป็นหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงาน ดึงทุกภาคส่วนเข้ามาร่วม วางแผน ประชุมติดตามงานสม่ำเสมอ จนทำแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด
“องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านผึ้ง อำเภอเมืองนครพนม เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งในการลดอุบัติเหตุ ใช้ “1669 Model” ที่ค้นพบจากประสบการณ์การทำงานใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ “1นำ-6P-6E-9 หนุน” 1นำ คือจัดตั้งศูนย์ ศปถ.ตำบลบ้านผึ้ง 6P คือ แนวทางขับเคลื่อนบูรณาการร่วมกันของภาคีเครือข่าย 6E คือสร้างการรับรู้วินัยจราจรอย่างครอบคลุม และ 9 หนุน คือภาคีเครือข่ายที่มีเป้าหมายร่วมกัน ที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนให้เป็นศูนย์” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวต่อว่า การดึงชุมชนเข้ามามีส่วนเพื่อให้ทราบสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุควบคู่กับการปลูกจิตสำนึกคนในชุมชนให้รักษากฎจราจรและสวมหมวกกันน็อค 100% รักษาสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการใช้รถใช้ถนน เช่น ซ่อมแซมถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ โดยใช้งบประมาณของชุมชน รวมถึงจัดตั้งด่านชุมชน ประชุมและติดตามงานอย่างสม่ำเสมอ จนส่งผลให้แก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด เกิดผลสำเร็จจากการลดอุบัติเหตุ คือการมีหน่วยงานที่เป็นแกนนำสำคัญ ได้แก่ ตำรวจภูธรจังหวัด องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ศปถ.อปท. ขับเคลื่อนสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน มีอาสาจราจรดูแลชุมชน เสริมงานตำรวจ และ สอจร. เข้ามาสนับสนุนทำให้ประชาชนปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางถนนมากขึ้น
พล.ต.ต.ธนชาติ รอดคลองตัน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม กล่าวว่า จังหวัดนครพนมถือเป็นพื้นที่นำร่อง ในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ได้ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งสหวิชาชีพ แขวงทางหลวงจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเน้นการนำข้อมูลการสอบสวนอุบัติเหตุทางถนน มาร่วมกันวิเคราะห์หาสาเหตุอย่างละเอียดทั้ง ตัวบุคคล รถ ถนน สภาพแวดล้อม และส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปแก้ไข โดยพนักงานสอบสวนจะนำข้อมูลการสอบสวนคดีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมาร่วมกันวิเคราะห์ เพื่อค้นหาสาเหตุและหาแนวทางแก้ไขปัญหา จากนั้นจะนำเข้าที่ประชุมระดับจังหวัดทุกเดือน พร้อมสั่งการให้หัวหน้าทุกสถานีตำรวจจังหวัดนครพนมรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปแก้ไขในแต่ละพื้นที่ จากการติดตามผลดำเนินการพบว่าสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา นำมาสู่การวางมาตรการต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2565
นายสมบูรณ์ นาคะอินทร์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านผึ้ง จ.นครพนม กล่าวว่า จากการร่วมกับ 9 ภาคีเครือข่ายทั้งรัฐและเอกชน โดยขับเคลื่อนผ่าน “1669 Model” ซึ่งเป็นหลักการในการทำงานโดยมี ศปถ.ตำบลบ้านผึ้งเป็นหนึ่งกลไกการทำงานหลัก เชื่อมประสานทุกภาคส่วนเพื่อสร้างตำบลขับขี่ปลอดภัยและมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทั้งการรณรงค์จุดเสี่ยงบนถนน การปลูกฝังเด็กผ่านหลักสูตรการขับขี่ปลอดภัย การใช้ข้ามทางม้าลายหน้าสถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก งานศพปลอดเหล้างานเศร้าปลอดการพนัน และการใช้กฎชุมชน เมาขับปรับ 200 พร้อมยึดกุญแจรถ โดยมีอาสาจราจร เป็นกำลังสำคัญทำงานหนุนเสริมกับท้องถิ่น-ตำรวจ ตั้งด่านชุมชน ดูแลป้องปราม ซึ่งปีที่ผ่านมาสามารถลดอุบัติเหตุได้อย่างชัดเจน
“ก่อนหน้านี้ชาวบ้านอาจจะไม่คำนึงถึงความปลอดภัย แต่พอมีโอกาสได้พูดคุยกับชาวบ้านรับรู้ปัญหาต่างๆ ร่วมกัน อย่างการใช้ถนนหลัก 4 เลนที่เป็นสายหลักที่รถมักใช้ความเร็ว จนเกิดอุบัติเหตุรุนแรงบ่อยครั้ง แต่เมื่อมีการขับเคลื่อนผ่าน 1669 Model สามารถลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิต ประกอบกับการบังคับใช้กฎชุมชนอย่างจริงจัง” นายสมบูรณ์ กล่าว
พล.ต.ต.อานนท์ นามประเสริฐ หัวหน้าคณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ภาคอีสานตอนบน กล่าวว่า การทำงานป้องกันลดอุบัติเหตุทางถนนของ จ.นครพนม ทางจังหวัดและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้ความสำคัญ และดึงภาคประชาชนเข้ามาร่วมช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ลดการบาดเจ็บและสูญเสีย โดยมีการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายสหวิชาชีพ เช่น แขวงทางหลวงจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อมุ่งแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างจริงจัง และตรงจุด เน้นการนำข้อมูลการสอบสวนอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้น นำมาวิเคราะห์หาสาเหตุอย่างละเอียดทั้ง ตัวบุคคล รถ ถนน สภาพแวดล้อม และส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปแก้ไข ส่งผลให้อุบัติเหตุลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน