xs
xsm
sm
md
lg

“ดนุช ตันเทอดทิตย์” ผู้ช่วย รมว.อว. โชว์ 5 ผลงานเด่น อว. ในการประชุมกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (22 เม.ย.) ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดการประชุมและกล่าวต้อนรับคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 4/2565 โดยมี ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วย รมว.อว. เป็นประธานในการประชุมดังกล่าว เพื่อให้คณะกรรมการฯ ได้ทราบถึงผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและการขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ ของ อว. และการร่วมมือกันบริหารจัดการและให้การสนับสนุนกันในแต่ละกระทรวง งานดังกล่าวจัดขึ้นที่อาคารอุดมศึกษา สำนักงานปลัด อว. (ถนนศรีอยุธยา)

ดร.ดนุช กล่าวว่า การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คืองานหลักของ อว. ซึ่งปัจจุบันได้จัดตั้งหน่วยงานที่คอยประสานงานและดำเนินการในแต่ละภูมิภาคและจังหวัดต่างๆ ผ่านสถาบันอุดมศึกษา มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยชุมชน โดยใช้ชื่อว่า “อว.ส่วนหน้า” ทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ จากส่วนกลางสู่พื้นที่ชุมชน ตามนโยบายของทางรัฐบาลผ่านโครงการสำคัญต่างๆ ของ อว. ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกมากมาย วันนี้ชัดเจนแล้วว่าพลังของ อว.ส่วนหน้า มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จากสถานการณ์ Covid-19 ที่ผ่านมา นอกจากภารกิจหลักด้านการศึกษาที่ทำอย่างต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยและหน่วยงานในกำกับของ อว. ยังเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดตั้ง รพ.สนาม ศูนย์พักคอย ศูนย์ฉีดวัคซีน อีกทั้งนักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาและด้านการแพทย์เข้ามาช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ ตนขอให้ทุกกระทรวงมั่นใจว่า อว. พร้อมดำเนินงานหลักต่อไปรวมถึงให้การสนับสนุนทุกกระทรวงอย่างเต็มที่ในอนาคต
 
ผู้ช่วย รมว.อว. กล่าวต่อว่า ในการประชุมครั้งนี้ตนได้นำเสนอผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและการขับเคลื่อนภารกิจที่สำคัญของกระทรวง ประกอบด้วย 5 เรื่อง ได้แก่ 1) โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ซึ่งเป็นเรื่องการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา 2) โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) หรือ U2T 3) โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะ ที่สามารถตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย (ปี 2561-2564) 4) วช. กับการขับเคลื่อนการวิจัยของชาติ ซึ่งมีหน้าที่หลัก ๆ เช่น การให้ทุนวิจัยและนวัตกรรม การจัดทำฐานข้อมูลและดัชนีด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ การส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ เป็นต้น และ 5) BCG โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดย สวทช. ได้นำเสนอแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 - 2570 ซึ่งมี 13 มาตรการขับเคลื่อนประเทศไทย เช่น มาตรการปรับระบบการเกษตรสู่ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และมูลค่าสูง มาตรการสร้างตลาดเพื่อรองรับนวัตกรรมของสินค้าและบริการ BCG มาตรการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ BCG เป็นต้น
 
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ อว. ขอรับการสนับสนุนและขอความร่วมมือจากกระทรวงต่าง ๆ ในเรื่องการเชื่อมโยงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน (Thailand Community Big Data: TCD) ซึ่งระบบโมเดลข้อมูลที่ได้ จะนำไปใช้วิเคราะห์ถึงประสิทธิภาพและศักยภาพของชุมชน ให้ทุกภาคส่วน รวมถึงชุมชน เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลชุมชนที่ได้จัดแล้วนำไปวิเคราะห์เพื่อการวางแผนพัฒนาพื้นที่ต่อไป








กำลังโหลดความคิดเห็น