xs
xsm
sm
md
lg

สธ.รับมอบวัคซีน COVOVAX 2 แสนโดส จากกลุ่ม QUAD ใช้คนอายุ 18 ปีอัป ที่ไม่เคยฉีดหรือแพ้วัคซีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.รับมอบวัคซีน COVOVAX 2 แสนโดส ล็อตบริจาคจาก 4 กลุ่มประเทศ QUAD เผย เป็นชนิดโปรตีนซับยูนิต มีความปลอดภัยสูง เร่งตรวจรับรองรุ่นการผลิต ก่อนกระจายแต่ละจังหวัด ฉีดคนอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นเข็ม 1 และ 2 ในผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนโควิด หรือแพ้วัคซีนชนิดอื่น ส่วนเข็มกระตุ้นยังต้องศึกษาวิจัยเพิ่ม

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับมอบวัคซีนโควิด-19 “COVOVAX” 2 แสนโดส มูลค่า 60 ล้านรูปี ที่ได้รับบริจาคจากกลุ่มจตุภาคีด้านความมั่นคง (QUAD) 4 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ว่า วันนี้ประเทศไทยได้รับการบริจาควัคซีน COVAVAX ที่ผลิตจากประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิต ซึ่งขอขึ้นทะเบียนกับ อย. ในการใช้กับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยเน้นใช้ในกลุ่มที่แพ้วัควีนแพลตฟอร์มอื่น แต่จะมีการส่งเอกสารเพิ่ม เพื่อขยายความครอบคลุมช่วงอายุลงไปจนถึงอายุ 12 ปี ทั้งนี้ ยังใช้เป็นวัคซีนแรกเริ่มก่อน ยังไม่ได้เป็นบูสเตอร์โดส ซึ่ง ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ระบุว่า การนำมาใช้บูสเตอร์ยังมีหนทางทำได้ คือ การทดสอบโดยสถาบันทางการแพทย์ และนำเข้าสู่คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งการบริจาคครั้งนี้แสดงถึงความสัมพันธ์และความสำคัญของประเทศไทยที่ให้ความร่วมมือมาตลอด

“วัคซีนมาถึงเมื่อวันที่ 18 เม.ย. โดยจะเข้าสู่การตรวจรับรองรุ่นการผลิตโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ อย.จะตรวจสอบว่าเป็นไปตามสูตรที่แจ้งหรือไม่ ส่วนการกระจายอยู่ที่กรมควบคุมโรค ซึ่งตนมีการหารือกับปลัด สธ.และอธิบดีกรมควบคุมโรค ว่า ก่อนนำไปกระจายอย่างแพร่หลาย หรืออนาคตหากมีการสั่งซื้อถ้ามีความจำเป็น ต้องมีการทดสอบคุณภาพ ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลให้มั่นใจว่า จะเป็นวัคซีนที่สามารถสร้างประโยชน์ให้ประชาชนช่วงวัยไหน มีข้อจำกัดทางสุขภาพอย่างไร” นายอนุทิน กล่าว


นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัคซีน COVOVAX เป็นวัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิตวัคซีน ซึ่งมีการผลิตและใช้ในหลายวัคซีนที่ผ่านมา ส่วนวัคซีน mRNA เป็นวัคซีนเทคโนโลยีใหม่ แม้มีความปลอดภัย เพราะฉีดไปเป็นหมื่นล้านโดสแล้ว แต่ความปลอดภัยระยะกลางและระยะยาว ยังบอกไม่ได้ เพราะฉีดยังไม่ครบ 2 ปี บางคนจึงเป็นห่วงตรงนี้ ดังนั้น วัคซีนโปรตีนซับยูนิตเป็นเทคโนโลยีใช้มานาน จึงค่อนข้างปลอดภัยพอกับชนิดเชื้อตาย บางคนที่ห่วงความปลอดภัยของ mRNA หรือมีผลข้างเคียงจากวัคซีนชนิดอื่นๆ ทั้งเชื้อตาย ไวรัลแวกเตอร์ หรือ mRNA ก็สามารถมาฉีดตรงนี้ได้ ยกตัวอย่าง คนที่ฉีด mRNA บางคนมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไม่ได้แนะนำให้ฉีดเข็มต่อไป ก็ให้มาฉีดตัวนี้ ทั้งนี้ การใช้เป็นไปตามที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. ในคนอายุ 18 ปีขึ้นไป เข็ม 1 และเข็ม 2 ห่างกัน 3 สัปดาห์ ยังไม่ได้ขอเป็นบูสเตอร์โดส

“บ้านเราตอนนี้คนที่ฉีดเข็ม 1 และ 2 หาค่อนข้างยาก หากจะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์เต็มที่กับบ้านเรา ต้องพิจารณาว่าจะฉีดบูสเตอร์โดสได้หรือไม่ เมื่อรับวัคซีนมาจะประสานกับผู้วิจัยที่เกี่ยวข้องในการศึกษาการฉีดบูสเตอร์โดสต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า การกระจายจะไปตามจุดฉีดจังหวัดต่างๆ ข้อบ่งชี้คืออายุ 18 ปีขึ้นไป และเป็นเข็ม 1 และเข็ม 2 ซึ่งหาคนฉีดค่อนข้างยาก แต่จะมีการประชุมอีโอซี เพื่อกระจายเป็นพื้นฐานให้ทางจังหวัด เพื่อให้คนที่แพ้วัคซีนหรือฉีดวัคซีนตัวอื่นไม่ได้มาฉีด ส่วนบูสเตอร์โดสต้องขอหาข้อมูลวิจัยต่อไป


เมื่อถามถึงเด็กที่แพ้วัคซีน mRNA มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ นพ.โอภาส กล่าวว่า มีไม่มาก ส่วนใหญ่หายหมดแล้ว กลุ่มนี้ไม่แนะนำให้ฉีด mRNA ซ้ำ ก็มาฉีดตัวนี้เป็นทางเลือกได้ให้ผู้ปกครองพิจารณา โดยตัวเลขกลุ่มนี้รวมกับคนที่ฉีดวัคซีนที่แพ้ประมาณหลักพันกว่าราย

เมื่อถามว่า คนที่แพ้วัคซีนตัวอื่นแล้วหากฉีด COVOVAX จะมีความเสี่ยงแพ้อีกหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า วัคซีนแต่ละตัวถือว่ามีความปลอดภัย แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่เป็นอะไรเลย ก็อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ วิธีการผลิตโปรตีนซับยูนิตก็เป็นที่ยอมรับของนักวัควีนว่าปลอดภัยสูง ก็มาฉีดได้ไม่น่ามีปัญหา ผลข้างเคียงก็เหมือนวัคซีนทั่วๆ ไป ไม่มีอะไรแตกต่างมากนัก

“สำหรับขั้นตอนต่อไปคือ รอกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบรุ่นการผลิต และ อย.อนุญาตให้ใช้เรียบร้อยแล้ว จากนั้นสอบถามทางจังหวัดว่าต้องการวัคซีนจำนวนเท่าไร เพื่อกระจายต่อไป เพราะวัควีนก็อายุไม่ยาวมาก ก็ต้องถามความจำนงหากไปเก็บปลายทางอาจจะหมดอายุไม่ได้ฉีดเปล่า ซึ่งการเก็บไม่ได้ยุ่งยาก อยู่ในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส โดยวัคซีน 1 ขวด ขนาด 5 ซีซี แบ่งฉีดได้ 10 คน คนละ 0.5 ซีซี ฉีดเข้ากล้ามเนื้อเหมือนเดิม” นพ.โอภาส กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับวัคซีน COVOVAX มีอายุใช้งานถึงเดือนกันยายน 2565 โดยกรมควบคุมโรค ยืนยันว่า สามารถใช้ทัน เนื่องจากเบื้องต้นมี 2 แสนโดส และจะมีการพิจารณาในอนาคตว่าจะสั่งซื้อต่อไปอย่างไร


นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า วัคซีนโคโวแวกซ์เป็นแพลตฟอร์มซับ ยูนิต โปรตีน เป็นการใช้กระบวนการผลิตเพื่อสร้างสไปก์โปรตีนขึ้นมา ต่างจากวัคซีนแพลตฟอร์ม mRNA ที่สร้างยีนไปผลิตสไปก์โปรตีนในร่างกาย ซึ่งซับยูนิตโปรตีนเป็นแพลตฟอร์มที่เคยใช้มาก่อนในวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ จึงไม่ถึงกับเป็นเทคโนโลยีใหม่เอี่ยม แต่เป็นทคโนโลยีใหม่กว่าเทคโนโลยีเชื้อตาย ประสิทธิผลจากการทดสอบของผู้ผลิตมากกว่า 90 % แต่เป็นในช่วงที่สายพันธุ์อู่ฮั่น อัลฟา และเดลตา ส่วนการใช้ก็เพิ่งเริ่มใช้ในฝั่งตะวันตก ทั้งอเมริกา และยุโรป ก็เพิ่งเริ่มใช้ เพราะว่าวัคซีนเพิ่งผลิตได้จึงค่อยๆทยอยออกมา

“วัคซีน COVOVAX ก็คือ วัคซีนโนวาแวกซ์ แต่บริษัทขายสิทธิให้กับบริษัทผู้ผลิตในอินเดียที่ชื่อว่า สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (Serum Institute of India--SII) ไปผลิตวัคซีนชนิดเดียวกัน แต่ใช้อีกชื่อว่า COVOVAX เป็นรูปแบบเดียวกับที่แอสตร้าเซนเนก้าขายสิทธิให้สถาบันซีรัม ซึ่งวัคซีนนี้สามารถใช้ได้ทั้งในผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อนเลยหรือเป็นเข็มกระตุ้นได้ แต่วัคซีนนี้ได้มา 2 แสนโดส จึงต้องอยู่ที่แผนการกระจายของกรมควบคุมโรค” นพ.นคร กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น