xs
xsm
sm
md
lg

เสียงจากเยาวชนสะท้อนความหวังพัฒนาการอ่าน ขอมีส่วนร่วมลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของเด็กไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บทสรุปจากเวทีเสวนา “พลังการอ่านฟื้นวิกฤตเด็กปฐมวัย” ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20 จัดโดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสมาคมผู้จัดพิมพ์และภาคีเครือข่าย กว่า 10 องค์กร ได้มีการตีแผ่ถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ แม้กระทั่งในการเข้าถึงหนังสือที่มีคุณภาพเหมาะสมกับช่วงวัย ในเด็กที่เกิดในครอบครัวเปราะบาง หรือครอบครัวที่มีรายได้น้อย กับครอบครัวที่มีฐานะดี

ขณะที่ลักษณะทางกายภาพ และพัฒนาการด้านต่างๆ ยังไม่เอื้อให้กับเด็กออกมาเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของตัวเองได้ โดยเฉพาะในช่วงการระบาดโควิดเด็กๆ เสียสิทธิในการได้รับการพัฒนาการทางสมองไปเยอะมาก แม้กระทั่ง องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-operation and Development : OECD) ออกมารณรงค์ให้รัฐบาลนานาประเทศมีการจัดส่งหนังสือให้เด็กเล็กถึงบ้าน เพราะโรงเรียนถูกสั่งปิด จึงมีเพียงบ้านที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย และเป็นพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมของเด็ก แต่ผ่านไป 2 ปีแล้ว แต่ยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการเหลียวแล

จะว่าไปเรื่องความต้องการของเด็กนั้นจะใครเข้าใจได้มากกว่าตัวเด็ก หรือเยาวชนที่มีช่วงวัยใกล้เคียงกัน ดังนั้นการขับเคลื่อน หรือส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านหนังสือของเด็กไทยจึงจำเป็นที่ต้องมีตัวแทนของเด็กเยาวชนเข้าไปมีส่วนร่วมสะท้อนมุมมอง และออกแบบความต้องการที่เหมาะสมสำหรับอนาคตของชาติได้ ซึ่งเรื่องนี้ “สิบเอก ดุษฎี ถิรธนกุล ประธานสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร” ในฐานะตัวแทนเด็กและเยาวชนที่เข้าไปมีส่วนร่วมตรงนี้ เล่าว่า สภาเด็กและเยาวชนฯ เป็นองค์กรที่มีการจัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการเด็กและเยาวชนโดยมีเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี เป็นสมาชิก และร่วมกัน พัฒนาเด็กและเยาวชนทุกรุ่นผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้มีความพร้อมต่อการเป็นผู้แทนที่สร้างประโยชน์ให้กับท้องถิ่นของตัวเองได้ โดยในการทำงานจะคำนึงถึงการมีส่วนร่วมและประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อเยาวชนรอบด้าน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สภาเด็กและเยาวชนฯ ได้ส่งตัวแทนเข้าไปอยู่ในบอร์ดบริหารต่างๆ ทั้งในระดับพื้นที่ และระดับประเทศ ในแต่ละปีมีส่วนร่วมในการผลักดันเชิงนโยบายต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับเด็กและเยาวชน เช่น การเรียกร้องในที่ประชุมกรรมาธิการการศึกษา และชี้แจงต่อที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาการหมดสิทธิ์สอบ และเรื่องอื่นๆ ตลอดจนมีความเห็นต่อข้อกฎหมาย นโยบาย และจริยธรรมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาที่มีผลต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน และเด็กปฐมวัย แม้กระทั่งเรื่องของการเปิดสถานบันเทิงครบวงจรซึ่งอาจจะเป็นผลทางอ้อมแต่ก็มีผลต่อเด็กและเยาวชน

ล่าสุด ในระหว่างที่มีการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ ทางสภาเด็กและเยาวชนฯ มองว่า “ผู้นำ” คือ บุคคลที่สามารถทำให้เกิดผลในด้านต่างๆ กับคนทุกคน ทุกช่วงวัย ดังนั้น สภาเด็กและเยาวชนฯ จึงได้พยายามสะท้อนนโยบาย ปัญหา และการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ต่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพื่อนำไปสู่การผลักดันเป็นนโยบายที่สามารถปฏิบัติได้จริง

สำหรับการส่งเสริม และสร้างวิถีการอ่านหนังสือตั้งแต่วัยเด็กนั้น เชื่อว่า สภาเด็กและเยาวชนฯ มีศักยภาพมากพอที่จะช่วยในการส่งเสริมสนับสนุนเรื่องนี้ให้มีการออกแบบนโยบายสาธารณะได้เพราะอยู่ในบอร์ดคณะบริหารต่างๆ ของกรุงเทพมหานครโดยตำแหน่งอยู่แล้ว เช่น การผลักดันให้กรุงเทพมหานคร ออกนโยบายให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร กว่า 437 แห่ง มีการออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสม และปรับพื้นที่ส่วนกลางของโรงเรียน ในช่วงเวลาที่ไม่ได้มีการใช้งาน ให้เป็นพื้นที่สำหรับการอ่านหนังสือของคนในชุมชน เป็นพื้นที่ในการสื่อสาร การอ่าน การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยได้ มีลักษณะเป็นศูนย์การเรียนรู้ หรือสถานรับดูแลเด็กที่ออกแบบโดยเยาวชน ผู้เชี่ยวชาญ และชุมชน

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีห้องสมุดจำนวนมาก แต่ยังขาดเรื่องของการใช้งาน เพราะห้องสมุดเป็นพื้นที่ที่ต้องเคลื่อนไหวน้อยที่สุด จึงยังไม่สามารถใช้เป็นพื้นที่ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนได้อย่างแท้จริง เพราะวัยนี้เป็นวัยที่มีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกัน แต่ในห้องสมุดจะจำกัดในส่วนนี้ ทำให้เด็ก เยาวชนเข้าไปใช้งานไม่บ่อยนัก

ดังนั้น คิดว่า ผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มเด็ก เยาวชน และชุมชน จึงควรมาหารือร่วมกันเพื่อออกแบบห้องสมุดให้เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ทำให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าไปใช้งาน ทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อสร้างเสริมพัฒนาการ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต่อไป ซึ่งหากมีส่วนใดที่สภาเด็กและเยาวชนฯ สามารถทำได้ ก็พร้อมที่จะเข้าไปร่วมดำเนินการเพราะเราคือ “นักหาทำ” อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นขอฝากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ด้วยว่าขอให้มีการรับฟังปัญหาและอัพเดทสถานการณ์ ร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อลูกหลาน ตามสโลแกน “ปรับทุกข์ ผูกมิตร เกาะติด จัดตั้ง”

ทั้งนี้ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.happyreading.in.th หรือสอบถามข้อมูลได้ที่เพจ “อ่านยกกำลังสุข”


กำลังโหลดความคิดเห็น