xs
xsm
sm
md
lg

อ่านหนังสือสร้างรากฐานชีวิตที่ลึกซึ้งได้ / ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 50 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 20 ที่จัดขึ้น ณ สถานีกลางบางซื่อ ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม - 6 เมษายน 2565 รู้สึกตื่นตาตื่นใจเป็นพิเศษ เพราะช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาทำให้ร้างลาไป 2 ปี และที่พิเศษกว่านั้นเป็นครั้งแรกที่จัดงานที่สถานีกลางบางซื่อด้วย และเป็นครั้งแรกที่เดินทางมาที่นี่ ทำเอาทั้งจอดรถทั้งเดินชมงานงุนงนไม่น้อย

แต่ที่น่าสนใจและชื่นใจไม่น้อยก็เพราะบรรยากาศโดยรวมมีคนไปร่วมงานจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน คนรุ่นใหม่ที่เดินกันขวักไขว่ โดยเฉพาะบูทหนังสือที่เจาะกลุ่มเยาวชนก็จะคึกคักเป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะตรงกับวันหยุด ซึ่งได้เจอะเจอกับผู้จัดงานก็เล่าให้ฟังว่าวันธรรมดาคนยังน้อย วันนั้นน่าจะคึกคักมากที่สุดละ

แม้งานสัปดาห์หนังสือแต่ละครั้งจะไม่ใช่ดัชนีชี้วัดการอ่านหนังสือของเด็กและเยาวชนแบบเป็นทางการได้ แต่ก็ทำให้เห็นว่ามีกลุ่มเฉพาะที่สนใจการอ่านหนังสือเป็นเล่ม มีความชื่นชอบ และหลงเสน่ห์การอ่านหนังสือ ส่วนประเด็นข่าวคราวทำนองว่าเด็กไทยอ่านน้อยลง เด็กไทยอ่านครั้งละไม่กี่บรรทัดนั้น ที่จริงเด็กจำนวนมากมีรูปแบบการอ่านที่เปลี่ยนไปมากกว่า เด็กจำนวนมากหันไปอ่านบนโลกดิจิทัล

อ้างอิงข้อมูลปี 2564 จากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) คนไทยใช้อินเตอร์เน็ตเฉลี่ยต่อวันอยู่ 10 ชั่วโมง 36 นาที โดยในวันทำงาน/เรียนหนังสือ 10 ชั่วโมง 35 นาที และในวันหยุด 9 ชั่วโมง 49 นาที เรียกว่าประมาณ 1/3 ของชีวิตประจำวันนั้นอยู่กับอินเตอร์เน็ต

ล่าสุดกลุ่ม Gen Z ทุบสถิติเป็นครั้งแรกปี 2564 ใช้อินเทอร์เน็ตนานที่สุด เฉลี่ยวันละ 12 ชั่วโมง 5 นาที แซงกลุ่ม Gen Y ที่เคยครองสถิติกลุ่มผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมากที่สุดถึง 6 ปี

กิจกรรมออนไลน์ที่กลุ่ม Gen Z ใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตมากที่สุด คือ เรียนออนไลน์ เฉลี่ยวันละ 5 ชั่วโมง 23 นาที รองลงมาคือ ดูรายการโทรทัศน์ ดูคลิป ดูหนัง ฟังเพลงออนไลน์ เฉลี่ยวันละ 4 ชั่วโมง 11 นาที และติดต่อสื่อสารออนไลน์ เฉลี่ยวันละ 3 ชั่วโมง 39 นาที

ทั้งหมดนี้เป็นตัวเลขที่อยู่ในสถานการณ์โควิด รูปแบบการใช้ชีวิตจึงทำให้มีข้อจำกัดเรื่องการเดินทางไปซื้อของ ต้องสั่งซื้อหนังสือทางออนไลน์ ใช้ชีวิตในร้านหนังสือลดลง และหันไปอ่านผ่านออนไลน์มากขึ้น

แต่การอ่านก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สำคัญในการช่วยพัฒนาสติปัญญาของเด็ก

การส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านยังเป็นเรื่องสำคัญ และหนังสือเล่มยังต้องได้รับการส่งเสริมสนับสนุนต่อไป เพราะประโยชน์ของการอ่านหนังสือมีมากมาย การอ่านช่วยปลุกสมองลูก ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีอย่างเหมาะสม ถ้าพ่อแม่เล่านิทานให้ลูกฟังตั้งแต่เด็ก โอกาสที่ลูกจะเติบโตขึ้นมาชอบการอ่านหนังสือก็เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในสังคมควรสนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านผ่านหนังสือ

พฤติกรรมการรักการอ่านหนังสือของเด็กในยุคนี้โอกาสเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติค่อนข้างยาก เพราะมีเจ้าเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาเป็นตัวขวางกั้นการรักการอ่านหนังสือของเด็กไปอย่างน่าเสียดาย

เด็กยุคนี้จำเป็นต้องอาศัยการถูกปลูกฝัง กระตุ้น และส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง โดยต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก ยิ่งเล็กยิ่งดี และพ่อแม่จะต้องเป็นผู้เพาะเมล็ดพันธุ์การอ่านให้ค่อย ๆ เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ในตัวลูกด้วย

ผลของมันไม่ได้ออกดอกทันที แต่ต้องใช้เวลาในการฟูมฟัก

เพราะเมื่อลูกหันไปอ่านออนไลน์มากขึ้น รูปแบบการอ่าน พฤติกรรมการอ่านของเด็กและเยาวชนจึงมีแนวโน้มเปลี่ยนไปมาก และทำให้ทักษะที่สำคัญสำหรับการอ่านหลายประการก็หายไปด้วย

โลกการอ่านหนังสือเป็นเล่มของเด็กแต่ละช่วงวัย กับโลกการอ่านออนไลน์มีความแตกต่างกันมาก เด็กเล็กเหมาะกับการอ่านหนังสือมากกว่า โดยเฉพาะหนังสือนิทานที่เหมาะกับช่วงวัย เด็กโตก็จะเหมาะกับหนังสือการ์ตูนที่มีเนื้อหาเหมาะกับช่วงวัย ยิ่งถ้าเขาอ่านได้เองก็จะสามารถเลือกหนังสือที่ชื่นชอบ และอาจสร้างแรงบันดาลใจที่ดีให้กับพวกเขาต่อไปได้ด้วย ส่วนวัยรุ่นที่มีรากฐานจากการอ่านหนังสือในวัยเด็กก็จะมีรสนิยมและรู้ว่าตัวเองชอบอ่านหนังสือแบบไหน และมีแนวโน้มจะกระโจนเข้าสู่โลกการอ่านหนังสือแบบหลากหลาย และเลือกอ่านอออนไลน์คู่ขนานกับอ่านหนังสือแบบฉลาดเลือก

ข้อดีของการอ่านมีมากมาย

1.ให้ความรู้

2. ช่วยพัฒนาสมองหลายส่วน

3. ลดความเครียด ฝึกสมาธิ

4. พัฒนาทักษะทางภาษา

5. ฝึกการคิดวิเคราะห์

6. เพิ่มทักษะการเขียน

7. ได้ความบันเทิง

แต่อย่าลืมว่ายิ่งนับวันเด็กยุคใหม่ยิ่งเติบโตขึ้นมาในโลกยุคดิจิทัล โลกที่ทุกอย่างเน้นความเร็ว และเร่งรีบไปซะหมด ทำให้เราขาดความละเอียดในการใช้ชีวิต ขาดทักษะชีวิตที่จำเป็นไปอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะทักษะการเรียนรู้ที่เกี่ยวกับและทักษะที่ลึกซึ้งที่ได้จากการอ่านหนังสือ

อ่านเอาเรื่อง

อ่านเพื่อให้ได้ความรู้และความเข้าใจในเนื้อหา อาจจะอ่านเอาเรื่องโดยละเอียด เพื่อเก็บความที่เป็นสาระประเด็นต่าง ๆ อย่างละเอียดละออ หรืออาจจะอ่านเอาเรื่องโดยสรุป เก็บความเฉพาะที่เป็นประเด็นสำคัญของเรื่องก็ได้ เป็นการอ่านเพื่อจับใจความสำคัญของเรื่อง

สอดคล้องกับทฤษฎีอ่านจับใจความของตราบาสโซ (Trabasso) ได้กล่าวว่า การอ่านเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องและมีความสัมพันธ์กัน 2 ประการ คือ ผู้อ่านและผู้รับสาร ต่อจากนั้นจะทำการเปรียบเทียบโดยอาศัยประสบการณ์เดิม ทฤษฎีนี้ได้เน้นว่าระดับการอ่านของผู้อ่านจะไม่คงที่ในขณะที่อ่านข้อความผู้อ่านจะควบคุมเพียงโครงสร้างผิวเผินจนกว่าสารที่รับรู้จะได้รับการเปรียบเทียบ

อ่านจับประเด็น

อ่านแบบมีจุดหมายเพราะการอ่านเอาสาระยิ่งได้สาระมาก ก็ยิ่งมีความรู้มาก โดยจะเป็นการสกัดเอาสาระซึ่งเป็นแก่นสารหรือเป็นหัวใจของเรื่องที่อ่านนั้น ที่ผู้แต่งต้องการจะสื่อ โดยต้องใช้วิธีการตั้งประเด็นปัญหาแล้วนำมาคิดวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีขั้นตอนจนได้คำตอบ

อ่านตีความ

อ่านเพื่อพยายามเข้าใจความหมาย และถอดความรู้สึกอารมณ์จากข้อความที่ผู้เขียนสื่อให้อ่านอาจจะตีความหมายได้ตรงกับความมุ่งหมายหรือเจตนาของผู้เขียน หรือบางครั้งอาจจะเข้าใจความหมายตามวิธีของตนเอง โดยอาศัยพื้นความรู้เดิมความสนใจ ประสบการณ์ระดับสติปัญญา ซึ่งเป็นขั้นที่ต่อเนื่องมาจากการอ่านที่จับประเด็นได้แล้ว สามารถประมวลความคิดต่อยอดแตกประเด็นได้ด้วย และพัฒนาไปสู่การพัฒนาทักษะการคิด การคิดเชื่อมโยง คิดวิเคราะห์ ฯลฯ

อ่านสั้นลง

อ่านในโลกออนไลน์ทำให้พฤติกรรมการอ่านของผู้คนสั้นลง เพราะต้องการอ่านเร็ว ๆ สั้น ๆ ไม่ชอบอ่านอะไรยาว ๆ ซึ่งเกิดจากการใช้สายตาของคนรุ่นใหม่เพื่อจะเลือกอ่านหรือดูเฉพาะจุดที่สนใจและเปลี่ยนไปมาอย่างรวดเร็ว โอกาสที่จะอาจแบบลึกซึ้งจึงหายไป

ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลว่า การอ่านหนังสือยิ่งต้องเป็นทักษะจำเป็นในโลกยุคนี้ แม้เด็กจะเป็นเติบโตมาในยุคดิจิทัล แต่รากฐานจากการอ่านหนังสือเป็นการสร้างรากฐานชีวิตที่ลึกซึ้ง ซึ่งสำคัญต่อทักษะชีวิตด้านอื่น ๆ

ว่าแล้วก็ชวนลูกหลานมาอ่านหนังสือกันเถอะ


กำลังโหลดความคิดเห็น