ศบค.เผย อนุมัติงบแจก ATK กลุ่มเสี่ยงแล้ว 3.1 ล้านชิ้น กว่า 170 ล้านบาท พบผลบวก 2.3% ฟุ้งต่างชาติแห่เข้าไทยเยอะขึ้น 3 เดือนแรกปีนี้ มาแล้ว 4.7 แสนคน มากกว่าทั้งปี 64 เห็นชอบหลักการ พ.ค.อาจปรับลดหลักฐานยื่นเข้าประเทศ ปรับลดวงเงินประกันสุขภาพ ลดวันกักตัว ตรวจแค่ ATK แต่ขอรอดูสถานการณ์หลังสงกรานต์ก่อน
เมื่อวันที่ 8 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ว่า เรื่องที่ 2 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เสนอเรื่องการให้มีการตรวจ ATK ด้วยตนเองในกลุ่มเสี่ยง โดยกระจายชุดตรวจ ATK ตั้งแต่ มี.ค.- ก.ย. 2565 เตรียมไว้ 22.8 ล้านชิ้น ช่วงที่ผ่านมาใช้ไป 3.1 ล้านชิ้น รวม 1.2 ล้านคน พบผลบวก 2.3% ใช้ต้นทุนต่อชุดประมาณ 55 บาท ตอนนี้งบประมาณที่ขออนุมัติไปแล้ว คือ 170 ล้านบาท ที่ประชุมรับทราบและขอให้มาช่วยกัน จะเป้นกลไกหนึ่งที่ทำให้ราคา ATK ในไทยไม่สูงเกินไป สิ่งที่น่าชื่นชมคือมีผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาโดยศิริราชพยาบาลให้ทางภาคเอกชนเข้ามาร่วมกันทำ เกิดตัว ATK ไทยขึ้นมา ราคาประมาณ 40 บาทต่อชิ้น ผลิตได้ 2 แสนชิ้นต่อเดือน นายกฯ ก็ชื่นชม และบอกว่า ถ้าเป้าหมายเราใช้เป็นล้านชิ้นต่อเดือน เป็นไปได้หรือไม่ให้เพิ่มตัวนี้ขึ้นมาถึง 1 ล้านชิ้น ซึ่ง รมว.สธ.ระบุว่า พอเป็นไปได้ อาจจะต้องร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่มีการนำเข้ามาด้วยราคาอยู่ที่ 35 บาทต่อชิ้น ทำให้ราคาถูกลง
เรื่องที่ 3 ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการท่องเที่ยวและกีฬา (ศปก.กก.) รายงานความคืบหน้าช่วงเวลาที่เราเปลี่ยนแปลง Test&Go ไม่ต้องทำ RT-PCR ก่อนเดินทาง พบว่า ปี 2564 ตลอดทั้งปี มีคนเดินทางเข้ามาเยอะๆ ในช่วง พ.ย.-ธ.ค. 2564 ซึ่งเรามีนโยบายผ่อนปรนให้เข้ามาแบบ Test&Go ทำให้ยอดกระฉูด แต่ทั้งปีเข้ามาเพียง 4.2 แสนคน ส่วนช่วง ม.ค. - มี.ค. 2565 มีนักท่องเที่ยวเข้ามา 4.7 แสนคน มากกว่าปีที่แล้ว แสดงถึงการเป็นผู้นำในการที่จะนำทิศทางที่จะเปิดประเทศ เรามีการศึกษาและผ่านกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ ส่วนตอนนี้ที่ปรับว่าไม่ต้องทำ RT-PCR โดยให้มาตรวจในไทยเมื่อเดินทางมาถึง และตรวจ ATK ด้วยตนเองครั้งที่ 2 ทำให้เป็นที่นิยมมาประเทศไทยประมาณหนึ่ง
“จากข้อมูลการลงทะเบียนใน Thailandpass เพื่อเดินทางเข้าประเทศ ถือว่าดีพอสมควร เกินกว่าครึ่งเข้ามา ก่อนหน้ามีลงทะเบียแล้วเข้ามาประมาณครึ่งหนึ่ง ตอนนี้ถือว่าเข้าเยอะขึ้น ถือว่ามีความไว้วางใจในประเทศไทยสูงขึ้นเรื่อยๆ” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญที่ ศปก.กก.เสนอในที่ประชุมและวางแผนถึง พ.ค.เสนอเป็นหลักการไว้ก่อน คือ ปรับหลักฐานที่ต้องใช้ในระบบ Thailand Pass ให้น้อยลง เพราะต้องไปเทียบกับต่างประเทศที่เป็นคู่แข่งดึงดูดนักท่องเที่ยวไป วงเงินประกันสุขภาพจาก 2 หมื่นดอลลาร์ ดูเหมือนแพง โดยเฉพาะประเทศชายแดนจะลดลงได้หรือไม่ Test&Go ปรับรูปแบบอย่างอื่นได้หรือไม่ ประเทศอื่นเป็น ATK แล้ว การกักตัวก็ลดเวลาลง ผู้ควบคุมยานพาหนะหรือลูกเรือลดระยะเวลากักตัวลงได้หรือไม่ ผู้ติดเชื้อจากเดิมอาการเล็กน้อยไปเข้า AQ กักตัว 10 วัน 7 วัน แต่ความรุนแรงของโรคลดลงก็ต้องลดลงด้วยในเวลา คนเสี่ยงสูงอาจจะยกเลิกการกักตัวหรือไม่ ซึ่งเห็นชอบในหลักการ แต่ยังไม่อนุมัติ โดยขอให้ดูผลระยะในช่วงสงกรานต์นี้ ว่า คนไทยร่วมมืออย่างไร ทำให้ตัวเลขการติดเชื้อภายในประเทศสามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ซึ่งตัวเลข 1 เม.ย. คนติดเชื้อมาจากต่างประเทศ นักท่องเที่ยวเราจะเป็นตัวปัจจัยสำคัญบอกว่า พ.ค.จะเป็นอย่างไร จะนำมาเข้าที่ประชุมต่อไป