เครือข่ายองค์กรชุมชน เครือข่ายเกษตรกรรมในเมือง องค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ และ สสส. ชวนใส่ใจปากท้องคนกรุงฯ เสนอ 10 ข้อ ร่วมออกแบบอนาคตเมือง “สร้างพื้นที่อาหารของเมือง” ต่อ ว่าที่ ผู้ว่าฯ กทม. หวังยกคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง ให้เข้าถึงอาหารที่ดี ปลอดภัย โภชนาการครบถ้วน
เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) สวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และองค์กรพันธมิตร ได้แก่ แอคชั่นเอด โฮมเน็ต มูลนิธิชุมชนไทย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา โดยการสนับสนุนของโครงการอียูโควิด สหภาพยุโรป (European Union) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) จัดเวทีนโยบายสาธารณะ “ปากท้องของคนกรุงฯ : ชวน (ว่าที่) ผู้ว่าออกแบบอนาคตเมืองด้วยพื้นที่อาหาร” โดยมีตัวแทนผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานครเข้าร่วม พร้อมตัวแทนองค์กรชุมชนจากกรุงเทพมหานครและตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายด้านเกษตรกรรมและอาหาร และองค์กรภาคประชาสังคมเข้าร่วมงาน
นางสาววรางคนางค์ นิ้มหัตถา จากโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) กล่าวว่า ได้ประมวลข้อเสนอเพื่อนำเสนอต่อผู้สมัครผู้ว่ากทม. ในสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตอาหาร โรคระบาด ความไม่ปลอดภัยในอาหาร ปัญหาสิ่งแวดล้อม กทม. สามารถมีบทบาทริเริ่มขับเคลื่อนให้เกิดพื้นที่อาหารของเมืองใน 10 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. กทม. ควรมีวิสัยทัศน์และนโยบายในการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง 2.การจัดหาที่ดินและทรัพยากรสำหรับการผลิตและตลาดอาหาร 3.สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน 4.พัฒนานวัตกรรมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากการหมุนเวียนทรัพยากรของเมือง 5.สนับสนุนงบประมาณแก่กลุ่มคนชุมชนต่างๆ เพื่อทำสวนผักหรือตลาดท้องถิ่น 6. สร้างความเชื่อมโยงให้เด็ก นักเรียน ผู้ป่วยได้รับอาหารที่ดีและปลอดภัย 7.เพิ่มโอกาสผู้ค้ารายย่อยได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจอาหาร 8.สร้างระบบสวัสดิการให้ทุกคนเข้าถึงอาหารและจัดการตนเองได้เมื่อเกิดภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉิน 9.สร้างกลไกเฝ้าระวัง ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีร้านอาหารและแหล่งจำหน่ายผักผลไม้และวัตถุดิบอาหารที่ปลอดภัย 10.พัฒนาระบบสนับสนุน เช่น ผังเมืองที่ปกป้องพื้นที่อาหาร เป็นต้น
คุณฟรานเชสก้า จิลลี่ ผู้ช่วยเลขานุการฝ่ายความร่วมมือ สหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า กิจกรรมที่สหภาพยุโรปสนับสนุนในวันนี้สอดคล้องกับนโยบายความมั่นคงทางอาหารของสหภาพยุโรป โดยระบุถึงข้อตกลงสีเขียว (European Green Deal) อันเป็นนโยบายที่วางเส้นทางให้สหภาพยุโรปเป็นกลุ่มประเทศแรกที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปีพ.ศ. 2593 และยุทธศาสตร์จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (The Farm to Fork Strategy) เป็นหัวใจหลักของข้อตกลงสีเขียวที่จะช่วยสร้างระบบอาหารที่เท่าเทียม เสริมสร้างสุขภาพที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยุทธศาสตร์จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหารจะผลักดันการพัฒนาระบบการผลิตอาหารและการบริโภคอาหารให้ยั่งยืน เพื่อให้แน่ใจว่าเกษตรกรจะได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรม โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย และยังทำให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์จากการคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางอีกด้วย
ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า แผนอาหารภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ให้ความสำคัญกับอาหารตลอดห่วงโซ่ คือตั้งแต่การผลิตและกระจายอาหาร การเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย เพียงพอ และมีคุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงการพึ่งพาตนเองด้านอาหารได้อย่างยั่งยืน ในช่วงวิกฤติโควิด 19 ในปี 2563 ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พบว่าคนจนเมืองกว่า 90 % ได้รับผลกระทบด้านรายได้ และเกือบ 1 ใน 3 เงินไม่พอจะซื้ออาหาร คนส่วนหนึ่งอยู่ได้จากการช่วยเหลือของภาคเอกชนและคนทั่วไปที่ทำอาหารมาแบ่งปันผู้เดือดร้อน ปกติแล้วค่าใช้จ่ายด้านอาหารของคนไทยมีสัดส่วนมากถึง 35% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่สำหรับคนจนและผู้มีรายได้น้อยจะเป็นค่าอาหารมากกว่า 50% นอกจากนี้ ข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของประชากร ปี 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป บริโภคอาหารในกลุ่มที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งหวาน มัน เค็ม ในระดับที่มีความเสี่ยงสูง คือ กินมากกว่า 5 วันต่อสัปดาห์ ตามลำดับดังนี้ 1.เครื่องดื่มชง 26.3% 2.กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ บรรจุขวดที่มีรสหวาน 18.9% 3.อาหารแปรรูปประเภทเนื้อสัตว์ 16.9% และ 4.อาหารไขมันสูง 16.1% ซึ่งส่งผลให้คนกินเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCD จึงเห็นว่า นโยบายด้านอาหาร ทั้งเรื่องการมีและการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย เพียงพอ และมีคุณค่าทางโภชนาการ ควรเป็นหนึ่งในนโยบายที่ผู้บริหารกรุงเทพมหานครให้ความสำคัญ จึงสนับสนุนให้มีนโยบายพื้นที่อาหารของเมืองให้ทุกคนเข้าถึงอาหารที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีพื้นที่ทางกายภาพและพื้นที่ทางสังคมให้คนในเมืองสามารถอยู่ร่วมกันโดยมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ด้านตัวแทนจากชุมชนเมืองได้เรียกร้องต่อกทม.และผู้กำหนดนโยบายว่า กรุงเทพมหานครและหัวเมืองต่างต้องมีหลักประกันว่าทุกคนในสังคมไทยต้องสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอและปลอดภัย ในระหว่างเกิดโควิดระบาด ชุมชนได้พิสูจน์ให้เห็นว่าหากได้รับการสนับสนุนให้ชุมชนต่างๆ พึ่งพาตนเองโดยการปลูกผักในเมือง ผู้ค้ารายย่อยสามารถค้าขายในตลาดสด ตลาดนัด หรืออาหารริมทาง รวมทั้งได้รับการช่วยเหลืออาหารเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน คนจนเมืองและชุมชนต่างๆจะสามารถอยู่รอดและเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ในที่สุด
สำหรับผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร จำนวน 4 ท่าน ได้แก่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร นางสาวรสนา โตสิตระกูล นายชัชชาติ สุทธิพันธุ์ และ น.ต.ศิธา ทิวารี ได้ตอบรับข้อเสนอดังกล่าวจากตัวแทนของชุมชนและองค์กรภาคประชาสังคม อีกทั้งได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับประเด็นเรื่องปากท้องและเรื่องสวัสดิการพื้นฐานของคนเมืองที่จะเป็นแนวนโยบายเมื่อได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานครแล้ว ทั้งนี้องค์กรภาคีที่เข้าร่วมงานได้ร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ในการทำงานเพื่อติดตามการทำงานของผู้ว่ากรุงเทพมหานครคนใหม่ รวมทั้งจะร่วมกันผลักดันการสร้างพื้นที่อาหารและความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนของเมืองให้เป็นนโยบายระดับชาติและเป็นนโยบายทางการเมืองของพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งเตรียมการจะมีการเลือกตั้งในระดับชาติหลังจากนี้ต่อไป