ปัญหาเดียวกันสร้างความทุกข์ให้แต่ละคนได้ไม่เท่ากัน
เราจะสังเกตเห็นได้ว่า หลาย ๆ ครั้งคนที่ดูเหมือนจะเพียบพร้อมทุกอย่าง กลับยังพร่องทางทักษะในการแก้ปัญหาง่าย ๆ (สำหรับเรา)
การรับมือกับปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน การดำเนินชีวิต แก่นแท้สำคัญไม่ได้มาจากฐานะ และไม่ได้มาจากความรู้ แต่มาจาก สติปัญญา หรือ "จิต" นั่นเองค่ะ
สำหรับดิฉันกับการเป็นครูกวดวิชาภาษาอังกฤษมา 25 ปี ในความรู้ที่ไม่เท่ากัน หากเด็กได้เจอครูดี สามารถเรียนทันกันได้หมด
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดเป็นตัวดึงให้นักเรียนบางคนไม่สามารถขึ้นมาเท่ากับเพื่อนๆได้ คือ "จิต" (mind)
คนไทยหลายคนแปลคำว่า mind แปลว่า จิตใจ หรือสิ่งที่เป็นความรู้สึก
แต่จริง ๆ แล้ว ฝรั่งแปลคำว่า mind หมายถึง brain หรือ ปัญญา (intellect) เพราะสติปัญญาที่แท้จริงของคนเรามาจากจิตที่แข็งแรง
ฐานของจิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับการสั่งสม บางคนฟุ้งซ่าน บางคนสงบ บางคนคิดเยอะคิดไม่จบในเรื่องที่ไม่สำคัญ
เมื่อคิดมาก ก็ต้องฝึกปล่อยวางมาก แต่คนคิดมากส่วนใหญ่สั่งสมการคิดมากมา โดยไม่ได้ฝึกการปล่อยวาง ทำให้นอนไม่หลับ แบกปัญหากลับบ้าน ติดตัวไปทุกขณะ ทำให้ไม่สามารถสู้กับปัญหาใหม่ที่เข้ามาได้ ทั้ง ๆ ที่ปัญหาใหม่อาจเป็นเรื่องเล็กๆน้อย เช่น การขับรถปาดหน้ากัน หรือความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ กลายเป็นเรื่องใหญ่ไม่จบไม่สิ้น
จิตที่แข็งแรง คือการสั่งสมทุกขณะที่เราใช้ชีวิต และเมื่อฝึกคิดดี สติปัญญาดี ก็ไม่มีเรื่องที่ต้องปล่อยวางมาก เพราะไม่ได้ยึดเอาเรื่องไม่สำคัญเก็บมาคิดให้รกสมอง
เราทุกคนควรรู้ไว้ว่า ทุกขณะที่เราคิดโน่น คิดนี่ เพลินกับความฟุ้งซ่าน คิดเรื่องอะไรซ้ำ ๆ มันคือการฝึก สั่งสมให้เรากลายเป็นคนแบบนั้นโดยไม่รู้ตัว เช่น เป็นคนชอบนั่งใจลอย เวลาเดินทาง ชอบมองข้างทางใจลอย ก็จะใจลอยเก่ง ใจลอยได้นานขึ้น
หากเรารู้ตัวสักหน่อยว่ามาตรฐานจิตเราอยู่ระดับไหน อย่างน้อยก็ได้รู้ตัว และระวังมากขึ้น
เช่น เด็กนักเรียนคนหนึ่งรู้ตัวว่าใจลอยเก่ง เวลาเดินทาง ก็เลยหยิบหนังสือเรียนมาอ่านระหว่างทางพอถึงโรงเรียน อ่านจบบทพอดีเลย ถ้าทำแบบนี้เด็กท่านนี้ก็จะได้จิตใหม่คือ จิตที่มีสมาธิมากขึ้น และจิตที่มีความรู้
จิตที่มีความเหงา ชอบเพลินกับความเหงา ก็จะสั่งสมจนกลายเป็นคนขี้เหงา เหงาเก่ง เหงานาน ทางออกคือ การหยิบสิ่งที่มีประโยชน์ขึ้นมาทำเวลาเหงาคืออ่านหนังสือค่ะ เราจะได้เรียนรู้จิตใหม่แทน
การที่เรานั่งเหม่อ นั่งคิดเรื่องคนอื่น ข่าวชาวบ้านที่ไม่เป็นสาระ มองเผิน ๆ ก็สนุกดี ไม่เห็นมีพิษภัย จริง ๆ แล้วมีสิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นค่ะ มันทำให้เราเพลิดเพลินกับการเสวยอารมณ์แบบนั้น และกลายเป็นจิตที่ไร้คุณภาพ
อย่าลืมนะคะ ทุกขณะจิตที่เราคิด คือการสอน สั่งสม ความเป็นเราโดยเราไม่รู้ตัว
ทางออกคือ เค้าต้องฝึกความคิด ฝึกอยู่กับปัจจุบัน ฝึกยากแต่ฝึกได้ ดีกว่าปล่อยจิตปล่อยใจไปตามยถากรรม พอถึงวันที่มาเจอปัญหา จิตไม่มีคุณภาพจะแก้โจทย์ยากในชีวิตได้อย่างไรกันเล่า
ครูฮ้วง
--------------------------
ครูฮ้วง-เสาวลักษณ์ ลี้รุ่งเรืองพร เจ้าของสถาบัน Campus Genius Center ผู้สอนหลักสูตรติวเข้มเพื่อการสอบ SAT ด้วยแนวคิดแบบ Critical Thinking ที่ช่วยให้นักเรียนสามารถยื่นคะแนนเข้าเรียน และประสบความสำเร็จในการเรียนคณะอินเตอร์ทั้งในและต่างประเทศ