xs
xsm
sm
md
lg

คร.ยันไม่ได้คุมเลข ATK โควิด แจงยอดไม่ตรงจังหวัด เหตุแล็บคีย์ข้อมูลไม่ทัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรคแจงไม่ได้คุมตัวเลข ATK "โควิด" ชี้ระบบ Dashboard ดึงข้อมูลจาก Co-Lab จากแล็บทุกแห่ง แต่ยอดไม่ตรงเกิดจากการเคสเยอะ เจ้าหน้าที่คีย์ข้อมูลไม่ทัน จะเห็นยอด ATK สวิงในบางวัน หรือกรณี ATK แต่ไม่ได้นอน รพ.อาจไม่ได้รายงานเข้ามา ย้ำไม่ได้โฟกัสยอดติดเชื้อ แต่ดูแนวโน้มเฉลี่ย 7 วัน 14 วัน สอดคล้องกับยอดป่วยหนักหรือไม่ แนะจังหวัดใช้ตัวเลขติดเชื้อวิเคราะห์จุดเสี่ยงคลัสเตอร์

เมื่อวันที่ 1 เม.ย. นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงกรณีข้อสงสัยการคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดจากการตรวจ ATK เนื่องจากยอดในระบบ Dashboard และตัวเลขรายงานจังหวัดไม่ตรงกัน ว่า ข้อมูลรายงานโควิดของ Dashboard ในเว็บไซต์กรมควบคุมโรค รวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่ง คือ 1.ข้อมูลผู้ติดเชื้อที่ตรวจด้วยวิธี RT-PCR รายวันจากจังหวัด 2.โปรแกรม Co-Ward ในส่วนของผู้ป่วยอาการหนัก ปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ ที่นอนใน รพ. ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดึงข้อมูลมาจาก รพ.จากทุกจังหวัดส่งมาที่ส่วนกลาง และรายงานใน Dashboard 3.การเสียชีวิต รายงานจากจังหวัดและเขตสุขภาพ คือ สำนักงานป้องกันและควบคุมโรค (สคร.) เข้ามาส่วนกลาง จากนั้นจะตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตว่ามาจากโควิดหรือไม่ เพราะหลายรายไม่ได้เสียชีวิตจากโควิด เช่น รถชนเสียชีวิต แต่มีผลติดโควิด หากยังตรวจสอบไม่ได้จะหาข้อมูลเพิ่ม และให้ผู้เชี่ยวชาญร่วมตรวจสอบก็จะรายงานในวันถัดไป และ 4.การติดเชื้อจากการตรวจ ATK จะดึงข้อมูลมาจาก Co-Lab ซึ่งทุก รพ.และห้องแล็บทั้งหมดในประเทศไทยที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะต้องใส่ข้อมูลเข้ามา ก็จะถูกดึงเข้ามาใน Dashboard

เมื่อถามถึงกรณียอด ATK ใน Dashboard กับจังหวัดไม่ตรงกัน นพ.จักรรัฐกล่าวว่า แต่ละจังหวัดจะส่งข้อมูลเข้ามา Co-Lab แต่มีปัจจัยที่ทำให้ไม่ตรงกัน คือ 1.การคีย์ข้อมูลจำนวนมากหลายหมื่นเคสต่อวัน เป็นภาระงานเยอะมากสำหรับเจ้าหน้าที่ อาจมีตกหล่นหรือไม่ ต้องเช็กดูรายจังหวัด หรืออาจไม่มั่นใจว่าเคสนี้ควรรายงานหรือไม่ อาจจะไม่ได้รายงานเข้ามา หรือคีย์ข้อมูลเข้ามาไม่ทัน จึงยกยอดเป็นวันพรุ่งนี้แทน ซึ่งก่อนหน้านี้จะเห็นข้อมูล ATK ค่อนข้างสวิง บางวันขึ้นสูง บางวันลงต่ำ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการคีย์ข้อมูลไม่ทัน แล้วคีย์วันรุ่งขึ้น 2.อาจมีการตรวจ ATK แล้วทำการรักษาแบบผู้ป่วยนอก OPSI หรือ HI ที่ไม่ได้นอน รพ. ก็อาจมีข้อมูลที่เก็บไม่ทัน อาจไม่ได้รายงานเข้ามา แต่มีการนับยอดไว้ ไม่แน่ใจว่าไปรวบรวมจากตัวเลขนั้นหรือไม่ และ 3.การตัดยอดรายวัน ขึ้นกับการตัดช่วงไหน หากตัดห่างออกไปอาจมีตัวเลขเพิ่มขึ้น ก็ขึ้นกับปัจจัยหลายๆ อย่าง

"ส่วนรพ.รายงานเข้ามาแล้วกรมควบคุมโรคคุมตัวเลขไหม เราไม่ได้โฟกัสแล้วสำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อมากน้อยแค่ไหน เพราะโอกาสการแพร่ค่อนข้างมาก และโอมิครอนแพร่เร็ว แต่อาการไม่หนัก เพราะฉีดวัคซีนมากพอสมควรแล้ว อยากเรียนว่า จำนวนผู้ติดเชื้อเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยรีเช็กเรื่องแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ผู้ติดเชื้อเราเน้นแนวโน้มเป็นหลัก วันนี้ ATK ไม่เยอะ พรุ่งนี้อาจเยอะก็ได้ หลายครั้งวันนี้น้อยอีก 2-3 วัน อาจจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเก็บข้อมูลคีย์ไม่ทันก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นเราดูแนวโน้มเป็นหลัก คือ ดูค่าเฉลี่ย 7 วัน 14 วัน ว่าเป็นอย่างไร ถ้าติดเชื้อน้อย แต่ปอดอักเสบเพิ่มขึ้นก็ไม่สอดคล้อง แสดงว่ามีปัญหาเรื่องการรายงาน แต่ตอนนี้การติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นอยู่ ปอดอักเสบก็เพิ่มขึ้นตาม ยังสอดคล้องกันอยู่เป็นไปในทางเดียวกัน" นพ.จักรรัฐกล่าว

นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ที่เรากังวลคือการติดเชื้อมากขึ้นช่วงสงกรานต์จะทำให้มีปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นตามมาด้วย เรายังไม่มีมาตรการปิดสถานที่ หรืองดสงกรานต์ ศบค.เห็นด้วยจัดสงกรานต์ภายใต้การควบคุมพอสมควร ประชาชนร่วมมือกันไม่ให้แพร่ไปครอบครัวตัวเอง ญาติผู้ใหญ่เรา จะได้ไม่ติดเชื้อ

ถามว่าข้อมูล ATK ใน Dashboard เป็นไปตาม รพ.คีย์เข้ามา นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ใช่ เพราะเป็นระบบ Co-Lab ที่ รพ.ที่มีห้องแล็บ หรือแล็บนอก รพ.ตรวจแล้วเจอบวก หรือตรวจแล้วต้องส่งข้อมูลมาก่อน มิเช่นนั้นอาจเบิกจ่ายไม่ได้ ยืนยันว่าเราไม่เคยจะเก็บตัวเลขของผู้ติดเชื้อ เพราะจะเป็นตัวช่วยให้เห็นแนวโน้มสำคัญ แม้การเสนอตัวเลขประจำวันจะเป็นรูปแบบ RT-PCR เพื่อยืนยันตามรูปแบบของนานาชาติที่ใช้เคสยืนยันเป็นหลัก ส่วน ATK จะเห็นภาพแต่ละจังหวัดว่าจะเอาไปวิเคราะห์หรือควบคุมโรคบางส่วน เช่น หากเห็น ATK เพิ่มขึ้น หากวิเคราะห์ข้อมูลได้ คนกลุ่มนี้มาจากการติดเชื้อโซนไหน สถานที่เสี่ยงตรงไหน สำคัญกว่าตัวเลขการติดเชื้อด้วยซ้ำ เช่น อาจจะเกิดคลัสเตอร์แบบนี้ จะได้เตรียมการป้องกัน

"สิ่งที่ผมอยากเห็นไม่ใช่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันด้วย ATK หรือ RT-PCR แต่อยากเห็นแต่ละจังหวัดมีการวิเคราะห์ข้อมูล ว่าตรงนี้มีจุดเสี่ยง ต้องควบคุมโรคป้องกันให้ได้ก่อนสงกรานต์ จะได้ไม่เกิดการแพร่มากขึ้น บางจังหวัดก็เห็นแล้วว่าบางสถานที่เป็นจุดเสี่ยง เช่น ร้านอาหารกึ่งผับ ตอนนี้เปิดรอรับสงกรานต์หลายที่ อาจมีเคสเพิ่มขึ้นได้ เาะไปทานข้าวดื่มเหล้าเป้นเวลานาน แต่ละจังหวัดต้องรีบวิเคราะห์ข้อมูลส่วนนี้มาก่อนจะเกิดเหตุการณ์ตรงไหนบ้าง และสถานที่เสี่ยงอื่นๆ ที่จะมีคนไปจัดกิจกรรมรวมตัวจำนวนมาก โดยเฉพาะสถานที่ปิดทั้งหลาย เริ่มมีคอนเสิร์ตบ้างหลายที่อาจต้องมีมาตรการ VUCA เพื่อช่วยดูแลในส่วนนี้" นพ.จักรรัฐกล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น