บุคลากรบุกทวงถามปลัด สธ. การกำหนดตำแหน่งชำนาญการพิเศษ 11 สายงานกลุ่มวิทย์ 329 ตำแหน่งจาก 60 จังหวัด หลัง ก.พ.เห็นชอบ ตั้งแต่ ก.ย. 64 แต่ อ.ก.พ. สธ.ยังไร้คืบหน้าจากแจ้งเลขตำแหน่ง
เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ชมรมพยาบาล APN กระทรวงสาธารณสุข (สธ ) นำโดย นายอาคม รัฐวงษา ประธานชมรมพยาบาล APN และตัวแทน 11 สายงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดินทางมายัง สธ.เพื่อยื่นหนังสือต่อ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. ในการติดตามและเรียกร้องให้กำหนดตำแหน่งในสายงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สูงขึ้น (ระดับชำนาญการพิเศษ) โดยมี น.ส.เรวดี รัศมิทัต ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข และ นพ.รุ่งเรือง กิจผาติด หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง และโฆษก สธ.รับหนังสือแทน
หนังสือดังกล่าวระบุถึงหนังสือคำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ 1662/2562 ลงวันที่ 4 มิ.ย. 2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานการกำหนดแนวทางและหลักเกณฑ์การกำหนดตำแหน่งในสายงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 17 สายงาน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานกำหนดตำแหน่งในสายงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งแต่ละสายงานได้ดำเนินการขับเคลื่อนและดำเนินการปรับปรุงค่างาน มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องผ่านผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละสายงาน เพื่อให้กองทรัพยากรบุคคล สธ.ได้ดำเนินการส่งให้สำนักงาน ก.พ. ให้ความเห็นชอบ ซึ่งบางสายงาน บางตำแหน่งสำนักงาน ก.พ.ได้ให้ความเห็นชอบ และส่งเลขตำแหน่งกลับมาแล้ว ตั้งแต่ ก.ย. 2564 เพื่อเสนอ ต่อ อ.ก.พ.สธ.
แต่ปัจจุบันยังไม่มีการแจ้งเลขตำแหน่งให้ต้นสังกัดทราบ แต่อย่างใด ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เขียนประเมินค่างานในแต่ละสายสายงาน รวม 11 สายงาน คือ 1. พยาบาลวิชาชีพ 224 ตำแหน่ง 2. เภสัชกร 53 ตำแหน่ง 3. แพทย์แผนไทย 7 ตำแหน่ง 4. นักจิตวิทยาคลินิก 4 ตำแหน่ง 5. นักกายภาพบำบัด 11 ตำแหน่ง 6. นักกิจกรรมบำบัด 6 ตำแหน่ง 7. นักโภชนาการ 5 ตำแหน่ง 8. นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4 ตำแหน่ง 9. นักเทคนิคการแพทย์ 6 ตำแหน่ง 10. นักวิชาการสถิติ 5 ตำแหน่ง และ 11. นักวิชาการสาธารณสุข 4 ตำแหน่ง รวม 329 ตำแหน่งจาก 60 จังหวัด ร่วมกับชมรมพยาบาล APN กระทรวงสาธารณสุข เห็นว่าระยะเวลาตั้งแต่เริ่มดำเนินการผ่านมาเนิ่นนานมากกว่า 3 ปี
จึงได้ร่วมกันทำหนังสือสอบถาม และขอคำตอบเรื่องความก้าวหน้าของการดำเนินการ และเรียกร้องให้กองบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการกำหนดตำแหน่งในสายงานวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในแต่ละสายงานให้เสร็จสิ้นตามกรอบเวลาที่วางไว้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการธำรงการรักษาบุคลากรที่มีศักยภาพ ซึ่งปฏิบัติงานโดยการวิจัยและพัฒนา ในการดูแลประชาชนกลุ่มเป้าหมายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน