xs
xsm
sm
md
lg

ยังไม่สรุป “บีม ปภังกร” เป็นใหลตาย ต้องรอชันสูตร เผยยังมี “หัวใจหยุดเต้น-กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด” ทำตายขณะหลับได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หมอชี้บีม ปภังกร” เสียชีวิตขณะหลับ ยังฟันธงไม่ได้เกิดจากใหลตาย หรือโรคหัวใจ ต้องรอผลชันสูตร เผย เสียชีวิตขณะหลับ มีทั้งใหลตาย ตรวจพบได้จากการตรวจยีนหรือคลื่นหัวใจ หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังเปิดงานวันสถาปนา รพ.นพรัตนราชธานี ครบรอบ 40 ปี และเปิดศูนย์ศัลยกรรมหัวใจและหลอดเลือด ว่า การเปิดศูนย์ศัลยกรรมหัวใจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับ รพ.ฝั่งตะวันออกของ กทม. เนื่องจากที่ผ่านมาต้องส่งตัวเข้ารักษาในเมืองทั้ง รพ.ในสังกัดกรมการแพทย์ เช่น รพ.ราชวิถี หรือโรงเรียนแพทย์แต่จากนี้สามารถสวนหัวใจและผ่าตัดรักษาได้ที่ รพ.นพรัตนฯ ทั้งนี้ แต่ละปีมีผู้ป่วยมาขอรับการรักษาด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ รพ.นพรัตนฯ เฉลี่ย 500-700 คน

“การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน ควรอยู่ในช่วงเวลาทอง 120 นาที ผู้ป่วยต้องรับยาละลายลิ่มเลือดหรือดำเนินการสวนหัวใจเพื่อให้ร่างกายกลับมาฟื้นฟูปกติโดยเร็ว” นพ.สมศักดิ์กล่าว

สำหรับกรณี บีม ปภังกร นักแสดงวัยรุ่นชายเสียชีวิตอย่างกะทันหันขณะหลับนั้น ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับใหลตาย หรือโรคหัวใจ หรือไม่ ต้องรอการชันสูตรที่ชัดเจนก่อน โดยโรคหัวใจบางคนเป็นโดยไม่รู้ตัวหรือบางคนรู้ตัว เช่น อดีตโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ที่เกิดกับอดีตรัฐมนตรีท่านหนึ่ง (นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ) ก็เกิดขึ้นขณะหลับ เพราะเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ไม่ใช่โรคใหลตายอย่างที่หลายคนเข้าใจ บางคนมีประวัติการป่วยด้วยโรคหัวใจหรือบางคนไม่มี แต่อาจมีอาการเข้าข่าย เช่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ดังนั้น ต้องรอความชัดเจน ส่วนคนที่เป็นโรคหัวใจนอนลำพังและไม่มีคนร่วมสังเกต หากมีอาการก็อาจช่วยชีวิตกู้วิกฤตไม่ทัน

นพ.เอนก กนกศิลป์ ผอ.สถาบันโรคทรวงอก กล่าวว่า การเสียชีวิตขณะนอนหลับไม่ได้มีแค่โรคใหลตาย ยังมีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) หรือภาวะผนังหัวใจหนา พบได้ในทุกช่วงอายุ แต่พบบ่อยในผู้ใหญ่วัยกลางคนที่มีอายุระหว่าง 30-40 ปี พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 2 เท่า สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่ และทุกเวลามักจะพบได้บ่อยใน ขณะออกกำลังกาย โดยไม่มีสัญญาณเตือน และยังมีหัวใจกำเริบเฉียบพลัน (Heart attack) ซึ่งมักจะหมายถึงกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โดยทั่วไปจะมีสัญญาณเตือนนำมาก่อน เช่น เจ็บแน่นหน้าอก เหงื่อแตก ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม และอาจนำไปสู่การเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ โรคใหลตายสามารถรับรู้ได้ด้วยการตรวจยีน หรือตรวจคลื่นหัวใจก็สามารถแสดงผลออกมาได้


กำลังโหลดความคิดเห็น