สธ.เผย ยังพบคลัสเตอร์ในชุมชนเพียบ งานศพสูงสุด 56% งานแต่งงาน 23% เน้นย้ำจัดงานปลอดภัยแบบ 3 ป. ประเมิน หากพบเสี่ยงเกิน 2 ใน 4 ต้องปรับรูปแบบจัดงาน ยึดหลัก COVID Free Setting และปฏิบัติตาม แนะใช้กลไกชุมชน อสม.ร่วมดูแลคัดกรองผู้ร่วมงาน
เมื่อวันที่ 16 มี.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วย ดร.อัมพร จันทวิบูลย์ นักวิชาการสาธารณสุขทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย และ นางประเสริฐ ท้วมมา ประธาน อสม. อ.เมือง จ.นนทบุรี ร่วมแถลงข่าวชุมชนปลอดภัย จัดงานปลอดโควิด ด้วยมาตรการ COVID Free Setting
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ติดเชื้อยังมากกว่า 2 หมื่นคนต่อวัน ยังพบการระบาดแบบคลัสเตอร์จากการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 2564 - 15 มี.ค. 2565 พบคลัสเตอร์จากการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มคนในชุมชน พบสูงสุดช่วง ก.พ. พบมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและ จ.กาญจนบุรี สัดส่วนประเภทกิจกรรม พบในงานศพสูงสุด 56% งานแต่งงาน 23% งานบุญ 16% งานบวช 5% สอดคล้องกับการสำรวจอนามัยโพล วันที่ 1-15 มี.ค. 2565 การพบเห็นเหตุการณ์หรือความเสี่ยงในบริเวณที่พักอาศัย เกือบ 1.8 หมื่นคน โดย 27% พบการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มในชุมชนอย่างแออัด ไม่เว้นระยะห่าง ไม่สวมหน้ากาก และ 24% พบการรวมกลุ่ม ตั้งวงดื่มเหล้า หรือเล่นการพนัน แสดงว่ามีการละเลยมาตรการในการจัดงาน ทั้งนี้ สามารถจัดงานได้ หากทำตามมาตรการ COVID Free Setting เพื่อความปลอดภัยจากโควิด
“ความเสี่ยงการแพร่โควิดจากการกิจกรรมในชุมชน พบพฤติกรรมสำคัญ คือ 1. การรวมกลุ่มคนจำนวนมากที่แออัด มาจากหลากหลายพื้นที่ แต่ละคนมีความเสี่ยงต่างกัน 2. ดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อเมาสูญเสียสติเพิ่มโอกาสมีพฤติกรรมเสี่ยง และ 3. มาตรการส่วนบุคคล ย่อหย่อน อาจประมาทเห็นคนกันเองน่าจะปลอดภัย เช่น กินอาหารร่วมกัน ตะโกนเชียร์ ร้องเพลง ตั้งวงเล่นพนัน ถอดหน้ากากเป็นระยะในการจัดงาน จึงต้องเน้นย้ำมาตรการป้องกันตนเองสูงสุด เพราะผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่ได้แสดงอาการจากสายพันธุ์โอมิครอนและรับวัคซีน คนติดเชื้ออาจไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก” นพ.สุวรรณชัย กล่าวและว่า การจัดงานในชุมชนให้เกิดความเรียบร้อย ปลอดภัยจากโควิด มาตรการทางสังคมที่มีกลไกของชุมชน ทั้ง อสม. ผู้นำชุมชน เป็นปัจจัยสำคัญทำให้พื้นที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น
ดร.อัมพร กล่าวว่า แนวทางจัดงานปลอดภัยใช้วิธี 3 ป. คือ 1. ประเมิน พิจารณาจากความเสี่ยงจัดงาน 4 เรื่อง คือ 1) ความหนาแน่นคนร่วมงาน ระยะห่าง 2) กิจกรรมในงานที่ต้องใช้เสียง 3) การเปิดหน้ากาก เช่น กินข้าว ร้องเพลง เปิดหน้าถ่ายรูป และ 4) การระบายอากาศ หากพบ 2 ใน 4 ถือว่างานมีความเสี่ยง นำมาสู่ 2. ปรับ ใช้หลักเกณฑ์ COVID Free Setting 3 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม เจ้าภาพ หรือออแกไนซ์เลือกสถานที่ระบายอากาศดี ลดจุดเสี่ยงต่างๆ ทำความสะอาดจุดเสี่ยง เพิ่มอุปกรณ์ล้างมือให้เพียงพอ กิจกรรมที่เสี่ยงอาจต้องปรับรูปแบบให้เหมาะสม หรือจำกัดจำนวนคนเข้าร่วม ส่วนคนจัดงานและคนร่วมงาน เน้นมีความปลอดภัย รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ประเมินตนเองว่าเสี่ยงหรือไม่ หรือใช้ ATK ตรวจ หากไปร่วมงานให้ใส่หน้ากาก พกแอลกอฮอล์เจล ปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน หลังร่วมงานเฝ้าระวังตัวเอง 10 วัน และ 3.ปฏิบัติ ผู้จัดงาน ประเมินตนเองผ่าน Thai Stop COVID 2Plus ว่าสถานที่กิจกรรมเป็นอย่างไร ถ้าผ่านก็เริ่มจัดงาน หรือหากมีข้อสงสัยจัดอย่างไร โทร. 02-590-4000 กด 1
“เมื่อประเมินแล้วว่าจัดได้ปลอดภัยตามประเมินก็แจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อแจ้งหน่วยปฏิบัติการในตำบลทราบว่าจัดงาน ก็จะได้นำ อสม.มาช่วยกันกำกับให้เกิดการปฏิบัติก็จะจัดงานได้ปลอดภัย ทั้งนี้ แม้การประเมินการจัดงานไม่ได้กำหนดเป็นกฎหมาย แต่ขอความร่วมมือในการประเมิน เพราะถือเป็นความรับผิดชอบ” ดร.อัมพร กล่าว
นางประเสริฐ กล่าวว่า ชุมชนที่ตนเป็น อสม. มีทั้งงานบวช งานแต่ง งานทำบุญบ้าน ที่พบมากคือ งานศพ ส่วนใหญ่จะประสาน อสม.มาช่วยดูแลผ่านทางวัด หรือผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งจะมีไลน์กลุ่มในการแจ้ง อสม.ในการมาช่วยดูแลการจัดงาน เช่น การคัดกรอง ซึ่งงานแต่งงานจะค่อนข้างทราบจำนวนแขก แต่งานศพไม่สามารถบอกจำนวนแขกจะเยอะหรือน้อย ก็จะตั้งจุดทางเข้าที่จัดงานอย่างน้อย 2 จุด หากมาจำนวนมากก็ 3 จุด เตรียมหน้ากาก เครื่องวัดอุณหภูมิ เจลล้างมือ สติกเกอร์ และสมุดลงทะเบียน เพื่อติดตามหลังจัดงานว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ สำหรับภายในงานจะมีมาตรการป้องกันตนเอง ไม่เปิดหน้ากากคุยกับแขก จัดโต๊ะที่นั่งเว้นระยะห่าง ไม่ให้รับประทานอาการในงาน โดยจัดเป็นเซตกลับไปรับประทานที่บ้าน ส่วนผู้จัดงานที่ไม่ให้ความร่วมมือยังไม่พบ