อย่ามองข้าม!! “สติกเกอร์คัดกรองโควิด” ไร้ประโยชน์-สร้างขยะ-ทำลายสิ่งแวดล้อม วอน “ลด-เลิก” และ “ตัด” ออกจากจุดตรวจต่างๆ ในสังคม
ขยะชิ้นเล็กๆ แต่ติดเกลื่อนทั่วไทย
ด้วยมาตรการคัดกรองโควิด-19 เวลาไปสถานที่ต่างๆ ก็ต้องมี “การวัดไข้-ใช้เจลล้างมือ” และบางที่อาจต้อง “ติดสติกเกอร์” ที่เสื้อเพื่อเป็นสัญลักษณ์ยืนยันว่า ผ่านการคัดกรองในจุดตรวจมาแล้ว
แต่สติกเกอร์เหล่านั้น กลับกลายเป็น “ขยะ” ที่ถูกนำมาติดทิ้งไว้ตามจุดต่างๆ บางส่วนก็หล่นอยู่บนพื้น และมีกระจัดกระจายอยู่ตามที่สาธารณะ และทำให้เกิดความสกปรกขึ้น
จากกรณีโพสต์ของ แฟนเพจ “Drama-addict” ซึ่งเป็นเพจดังที่นำเสนอประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ได้ออกมาพูดถึงเรื่องของ “สติกเกอร์คัดกรองโควิด” ที่ถูกนำมาติดในสถานที่ หรือสิ่งของในที่สาธารณะ จากนั้นก็เกิดการตั้งคำถามของคนในโซเชียลฯ ขึ้น
ชาวโซเชียลฯ ได้ตั้งคำถามในเรื่องนี้ถึงสามประเด็นด้วยกัน ทั้งเรื่องของความสกปรกที่เกิดขึ้นในที่สาธารณะ ประโยชน์ของการติดสติกเกอร์คืออะไร และในเมื่อมีมาตรการอื่นอยู่ อย่างการใส่มาสก์, การวัดอุณหภูมิ แล้วการติดสติกเกอร์คัดกรองจำเป็นด้วยหรือ?
สำหรับคำตอบในประเด็นนี้ “พิชามญชุ์ รักรอด” หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติกกรีนพีซประเทศไทย มองว่า เวลาที่เราไปในที่สาธารณะ เราจะเห็นได้ว่าทุกสถานที่ก็จะมีการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าสถานที่ และมีการบริการเจลล้างมืออยู่แล้ว การติดสติกเกอร์จึงอาจไม่จำเป็นต้องใช้ก็ได้ เพราะถือเป็นการเพิ่มขยะ
“จริงๆ แล้ว การที่เราได้รับการวัดอุณหภูมิ หรือการที่เราใช้เจลล้างมือแล้วนั้น มันก็เป็นการสกรีนได้แล้วว่า เราไม่มีความเสี่ยงเมื่อคัดกรองหาเชื้อโควิด”
ประโยชน์ของการติดสติกเกอร์นั้น มีเพียงแค่สามารถบ่งบอกได้ว่า คนที่ติดได้รับการตรวจคัดกรองมาเรียบร้อย และเขาได้ผ่านจุดตรวจนั้นมาแล้ว ก็ทำให้คนอื่นคลายความกังวลอยู่ได้บ้าง
“การที่มีมาตรการตรวจวัดอุณหภูมิ หรือการใช้เจลล้างมือแค่นั้นก็น่าจะเพียงพอแล้ว เราก็พอที่จะมั่นใจได้ประมาณหนึ่งว่าคนๆ นี้ หรือคนอื่นๆ ที่อยู่ร่วมกันกับเราในสังคม เขาอาจจะไม่ได้มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด”
จุดนี้เลยมองว่า การใช้สติกเกอร์ก็อาจจะไม่ได้จำเป็นแล้วในช่วงนี้ เพราะคนเราเริ่มเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิดได้แล้ว อีกทั้งคนก็รู้จักวิธีดูแลตัวเองประมาณหนึ่ง มีการสวมหน้ากากอนามัยและการพกเจลล้างมือถึง 90% ซึ่งมีความจำเป็นมากกว่าการใช้สติกเกอร์ ที่อาจก่อให้เกิดขยะเป็นจำนวนมากในอนาคต
“ยิ่งในช่วงโควิด คนเราสร้างขยะเยอะขึ้นมาก ตรงนี้เรามองว่าถ้าสิ่งไหนที่ไม่ได้มีความจำเป็นมาก หรืออะไรที่มันไม่ต้องใช้ก็ได้อย่างสติกเกอร์ เราก็ควรจะต้องมานั่งคิดกันอีกทีว่า อาจจะเลิกใช้หรือลดการใช้ลงก็ได้
เพราะสติกเกอร์ก็เป็นสิ่งที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ติดเสร็จก็คือจบ และกลายเป็นขยะที่ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ไปในที่สุด”
ใช้ได้ครั้งเดียว สร้างมลพิษไปอีกนาน
สติกเกอร์คัดกรองโควิด-19 ก็ถือว่าเป็นขยะประเภท “ซิงเกิลยูส (Single-Use)” ที่เมื่อนำมา “ใช้ได้ครั้งเดียวแล้วก็ต้องทิ้งไป” ไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลอีกครั้งได้ ซึ่งต่อๆ ไปอาจจะไม่ได้นำมาเพียงแค่ความสกปรกเท่านั้น ในอนาคตอาจทำให้ขยะประเภทนี้เพิ่มมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก รายเดิม มองถึงปัญหานี้ ว่า บางทีความสกปรกตามที่พบเห็นในที่สาธารณะ เพราะมีบางคนที่เมื่อไม่ได้ใช้หรือเมื่อออกจากสถานที่ที่หนึ่งแล้ว ก็จะเอาสติกเกอร์ที่ได้มานี้ไปติดตามเสาไฟ หรือ ตามที่สาธารณะอื่นๆ เพราะไม่รู้จะเอาไปติดที่ไหน
“การรณรงค์ในเรื่องนี้ มันอาจจะต้องใช้ความตระหนักรู้ในเรื่องความรับผิดชอบทางสังคม เพราะเราก็อยู่ร่วมกันในสังคม เราก็ไม่ควรจะไปทำลายทรัพย์สินสาธารณะให้เกิดความสกปรก หรือความเสียหาย”
จริงๆ แล้วในเรื่องมาตรการการรับมือกับขยะที่เกิดจากสติกเกอร์นี้ ที่สำคัญเลย ก็คือ การลดใช้หรือเลิกใช้ เพื่อไม่ให้เกิดขยะมากขึ้น เพราะถ้ามีการคัดกรองอุณหภูมิ และการล้างมือด้วยเจลล้างมือก่อนเข้าไปในสถานที่ต่างๆ การทำเช่นนั้นก็อาจจะเพียงพอแล้ว
“เพราะขยะประเภทนี้ไม่สามารถจะเอาไปรีไซเคิลได้ ไม่สามารถส่งต่อหรืออะไรได้เลย เพราะมันคือสติกเกอร์ เลยอยากจะแนะนำให้ไม่ต้องใช้ เพราะไม่ได้มีความจำเป็นขนาดนั้น หรือควรเป็นข้อพิจารณาที่จะลองลดใช้ดู”
อย่างไรก็ตาม การจัดการตั้งแต่ต้นทาง คือ ทางออกที่ดีที่สุด เพราะถ้าไปอยู่ตามถังขยะหรือที่ต่างๆ มันก็จะกลายเป็นขยะโดยสมบูรณ์ อีกทั้งสติกเกอร์เหล่านั้นก็มีกาวด้วย การกำจัดจึงต้องทำด้วยวิธีการใช้ดินฝังกลบ ก็อาจจะทำให้เกิดมลพิษต่อหน้าดินอีกด้วย
“หรือไม่ก็ควรมีการคัดแยกขยะ สำหรับพวกขยะสติกเกอร์ สกอตเทป ที่ไม่สามรถนำไปใช้อะไรได้แล้ว จะได้ง่ายต่อการคัดแยก คนที่มารับต่อ หรือรถขยะก็จะทำงานได้สะดวกมากขึ้น”
แต่ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ภาครัฐมีการพูดคุยสถานประกอบการต่างๆ เพื่อที่จะลดใช้สติกเกอร์ตัวนี้ เพราะการลดหรือเลิกใช้เป็นสิ่งที่ยั่งยืนที่สุดของการแก้ปัญหาในเรื่องนี้
“คนไทยก็ควรหันมาใส่ใจในเรื่องนี้มากขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะเราใช้ซิงเกิลยูสกันเยอะมากในปัจจุบัน และอยากให้ทุกภาคส่วนลองกลับมาคิดดูว่า ควรเลิกใช้สติกเกอร์คัดกรองไหม เพราะโอกาสเพิ่มขึ้นของขยะประเภทนี้มันก็จะสูงมาก”
ในเมื่อตอนนี้เรามีมาตรการการคัดกรองที่มันชัดเจน ที่จะทำให้เราลดความเสี่ยงได้แล้ว ก็อยากฝากภาครัฐได้พิจารณาร่วมกับผู้ประกอบการการต่างๆ ได้ฉุกคิดแล้วก็นำไปสู่การปฏิบัติและการลดและเลิกใช้ในอนาคต และหวังว่าจะมีการเพิ่มแนวทางการบริหารจัดการขยะเหล่านี้ให้ได้โดยเร็ว เพราะไม่มีใครรู้ว่าเราจะต้องอยู่กับการระบาดของโรคร้ายนี้ไปอีกนานเท่าไร
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : แฟนเพจ “Drama-addict”, “Greenpeace Thailand” และ rama.mahidol.ac.th
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **