วันนี้(2 มี.ค.)นายอริย์ธัช ชาติอาริยะพงศ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข กล่าวว่า ได้รับข้อมูลแจ้งจากประชาชน หมู่บ้านอิมพีเรียลปาร์ค เฉลิมพระเกียรติ ร.9 ว่า ได้รับผลกระทบ ขยะส่งกลิ่นเหม็นเน่าจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์กำจัดมูลฝอยซอยอ่อนนุช กรุงเทพมหานคร โดยได้รับผลกระทบมาตลอดตั้งแต่มีการตั้งโรงไฟฟ้าขยะในปี 63 จนถึงปัจจุบัน
“ในฐานะที่ผมเป็นคนหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการจัดการขยะโดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมืองที่มีการผลิตขยะต่อวันเป็นจำนวนมาก การกำจัดขยะตั้งแต่แหล่งเกิดเป็นแนวทางที่เห็นด้วย เพราะแต่ละชุมชนต้องมีการจัดการขยะที่สร้างขึ้น การสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อเปลี่ยนขยะมาเป็นพลังงานก็เป็นทางเลือกหนึ่ง ต่างประเทศก็ใช้ แต่เรื่องนี้จะทำแบบมักง่ายหรือไม่สื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนไม่ได้ เพราะหัวใจสำคัญที่สุดของการจัดการขยะ คือการแยกขยะตั้งแต่ครัวเรือน ต้องทำตรงนี้ให้มีประสิทธิภาพ ส่วนจะจัดการแบบไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หรือหากยังจัดการแยกขยะได้ไม่ดีพอ โรงไฟฟ้าขยะก็จะต้องมีจุดพักคัดแยกที่มีประสิทธิภาพ มีความมิดชิด ไม่ส่งกลิ่นรบกวน เพราะต้องใช้เวลาในการคัดแยกขยะ เนื่องจากต่อให้เทคโนโลยีดีแค่ไหนก็ไม่สามารถกำจัดขยะเปียกกับขยะแห้งพร้อมกันได้ แต่ปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดในประเทศที่มีการคัดแยกขยะดีตั้งแต่ต้นทาง ขยะที่แยกมาดีแล้วจะสามารถส่งเข้าโรงงานเพื่อจัดการได้เลย ทำให้ถูกจัดการอย่างรวดเร็วไม่ทิ้งค้างหมักหมมส่งกลิ่น นี่คือเหตุผลว่าทำไมต่อให้โรงงานขยะอยู่ใกล้บ้านเขาก็ไม่รังเกียจ บางเมืองถึงกับตั้งร้านกาแฟให้นั่งชมขยะที่กำลังถูกจัดการเสียด้วยซ้ำ”
นายอริย์ธัช กล่าวต่อว่า จึงเป็นข้อสังเกตว่า การสร้างโรงไฟฟ้าขยะของ กทม. อยู่บนพื้นฐานของความอยากสร้างมากกว่าต้องการจัดการปัญหาขยะ เท่าที่ทราบคือไม่มีทั้งการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และไม่มีการทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA เรื่องนี้แม้จะได้รับการยกเว้นจากคำสั่ง คสช. ในการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ แต่ กทม. จะอาศัยช่องว่างของคำสั่งที่เปิดทางละเลยหน้าที่ของตัวเองด้วยการแก้ปัญหาแแบบส่งเดชโดยอ้างแค่กฎหมายไม่ได้ ต้องมีจิตสำนึกด้วยว่าทำแบบนี้แล้วจะยิ่งสร้างปัญหาให้กับชุมชนหรือไม่ ดังที่เห็นนอกจากส่งกลิ่นเหม็นเน่าแล้วแน่นอนว่าจะตามมาด้วยการซึมเปื้อนของเหลวเน่าเสีย หรือสารพิษ อาจลงดินและน้ำ ทำให้รอบพื้นที่ของโรงไฟฟ้าขยะกลายเป็นพื้นที่มลพิษแทนพื้นที่ขยะซึ่งจะกระทบต่อสุขภาพประชาชนด้วย
“การจัดการขยะอย่างมักง่ายจะนำมาซึ่งการต่อต้านโรงไฟฟ้าหรือโรงงานกำจัดขยะในพื้นที่ต่างๆ จะทำให้การแก้ไขปัญหาขยะเมืองไม่สามารถเป็นไปได้ เรื่องขยะถือเป็นเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องใหญ่ของกรุงเทพ ต้องการการสื่อสารเพื่อมทำความเข้าใจ สร้างองค์ความรู้ และมีนโยบายสนับสนุนที่มากพอของหน่วยงานต่างรวมถึง กทม.ในการทำให้การคัดแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพเกิดขึ้นก่อน ไม่ว่าจะเป็นการแจกจ่ายถังแยกขยะ การมีจุดทิ้งขยะชนิดต่างๆ หรือให้ความรู้เรื่องวิธีการจัดการขยะเปียก จากนั้นจึงตามมาด้วยการออกแบบระบบจัดเก็บ ระบบขนส่ง และนำเข้าโรงงาน"
นายอริย์ธัช กล่าวต่อว่า หากเริ่มจากโรงงานโดยโฆษณาว่าเทคโนโลยีดี หลายประเทศก็ใช้กันแล้วไม่มีปัญหา อย่างที่ทำอยู่เป็นความคิดที่ผิดพลาด เพราะบริบทของการจัดการขยะแตกต่างกัน คิดแต่จะตั้งโรงงานต่อให้ลงทุนแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์ถ้าแยกขยะไม่เป็น และจะยิ่งสร้างปัญหา ดังนั้น สำหรับกรณีนี้ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า กทม.จะต้องสั่งปิดโรงไฟฟ้าขยะไปก่อน แล้วกำจัดขยะที่ตกค้างให้หมด พร้อมทั้งชดเชยเยียวยาผลกระทบของคนโดยรอบ เช่น การตรวจสุขภาพ หรืออื่นๆ เช่น รายได้ เพราะกลิ่นเหม็นเน่าอาจทำให้ผู้ประกอบการขายของไม่ได้ นอกจากนี้ จะต้องตรวจสอบว่าเป็นการเอื้อเอกชนในการสร้างทำให้ได้สเปคไม่มีคุณภาพหรือไม่และจะต้องกำกับให้มีส่วนในการรับผิดชอบปัญหา เนื่องจากเมื่อเปิดใช้งานแล้วส่งผลกระทบมาก ส่วนในระยะยาวจะต้องเร่งสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจเรื่องขยะกับประชาชน และสร้างสภาพที่เอื้ออำนวยต่อการจัดการขยะให้ประชาชน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่ชุมชนจะมีวิธีการกำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพภายใต้ข้อตกลงและกติร่วมกันเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับอนาคต