สธ.จ่อชง ศบค.ชุดใหญ่ 18 มี.ค. ผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศแบบ Test&Go ไม่ต้องตรวจ RT-PCR 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง ให้ตรวจครั้งเดียวเมื่อมาถึงไทย และตรวจด้วย ATK อีกครั้งในวันที่ 5 เสนอปรับลดวงเงินเบี้ยประกันสุขภาพจาก 5 หมื่นเหรียญเหลือ 1 หมื่นเหรียญ พร้อมรายงานแผนปรับโควิดสู่โรคประจำถิ่น
เมื่อวันที่ 16 มี.ค. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์โควิด 19 ขณะนี้เป็นไปตามฉากทัศน์ที่วางไว้ ว่า ช่วงกลาง มี.ค. การติดเชื้อจะเริ่มชะลอตัว แต่จะไม่ลดลงฮวบ เนื่องจากเราใช้มาตรการคล้ายการกั้นน้ำ ทำให้น้ำค่อยๆ เอ่อล้นและเริ่มลดลง สำหรับสายพันธุ์โอมิครอนนั้น ข้อมูลจากนักวิชาการจากทั้ง รพ.ศิริราช และต่างประเทศ ระบุว่า อยู่ในช่วงกลางๆ และกำลังจะเข้าสู่ขาลง อย่างสหรัฐอเมริกา และยุโรปก็เริ่มลงแล้ว เนื่องจากเชื้ออ่อนแรงลง ฉีดวัคซีนครอบคลุมเพิ่มขึ้น และมีคนติดเชื้อไปมากแล้ว ซึ่งสถานการณ์ของประเทศไทยถือว่าค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อย่างมาเลเซียก็ติดเชื้อใหม่และสะสมมากกว่าไทย
“ตอนนี้ดูเหมือนว่าโรคจะแรง จากจำนวนการติดเชื้อใหม่ แต่จะดูเฉพาะตรงนี้ไม่ได้ เมื่อก่อนเรารู้จักโรคไม่มาก จึงใช้ตัวเลขติดเชื้อ ผู้ป่วยนอน รพ. และเสียชีวิต แต่ตอนนี้เรารู้จักโรคมากขึ้น มีอาวุธพร้อมแล้ว ดังนั้น เราต้องมองมากกว่ามิติการระบาด ไม่ใช่เพียงตัวเลขติดเชื้อรายวัน แต่ต้องมองการครอบคลุมวัคซีน ระบบบริการ มองตัวเชื้อและลดลงความรุนแรงลง” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สำหรับการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่นัดหมายวันที่ 18 มี.ค. 2565 ทาง สธ.เตรียมเสนอผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศระบบ Test&Go เพื่อให้เกิดความคล่องตัวทางเศรษฐกิจ จากเดิมกำหนดว่า ผู้เดินทางจะต้องมีผลตรวจเชื้อเป็นลบด้วยวิธี RT-PCR ใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง และมาถึงแล้วให้ตรวจ RT-PCR ซ้ำอีกครั้งทันที ก็เสนอว่าไม่จำเป็นต้องตรวจ RT-PCR ใน 72 ชั่วโมงแล้ว เหลือเพียงการตรวจครั้งเดียวเมื่อมาถึงไทย และตรวจ ATK ด้วยตนเองซ้ำอีกครั้งในวันที่ 5 ของการเดินทาง ขณะที่วงเงินประกันสุขภาพผู้เดินทางเดิมกำหนด 5 หมื่นเหรียญสหรัฐ ก็เหลือ 1 หมื่นเหรียญสหรัฐ ซึ่งเราคำนวณจากค่าเฉลี่ยการรักษาพยาบาล ตอนนี้โรคเบาลงแล้ว จากเดิมเราเฉลี่ยค่ารักษา 1 ล้านบาทต่อราย ตอนนี้ก็เหลือเพียง 2 หมื่นบาทต่อราย
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า นอกจากนี้ จะรายงานต่อ ศบค.ชุดใหญ่ ถึงแผน Approach to Endemic หรือการปรับโรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น เนื่องจากการจะเข้าสู่โรคประจำถิ่นจะมีผลต่อการควบคุมโรค การดูแลรักษา สังคมและกฎหมาย ศบค.จึงต้องรับทราบเพราะดูแลเรื่องสังคมและกฎหมาย ส่วนเรื่องการแพทย์ก็อยู่ในส่วนของ สธ.อยู่แล้ว ซึ่งต้องพิจารณามิติทางสังคมและการแพทย์ให้สมดุลกัน เนื่องจากมีการออกมาตรการทางสังคมและกฎหมายหลาย 10 ฉบับในช่วงการระบาด จึงต้องปรับกฎหมายเข้าสู่ปกติ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รัฐบาลก็เตรียมการปรับเป็นการใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่มีเรื่องของการบริหารในภาวะฉุกเฉิน โดยเตรียมไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อให้สอดรับกับแผนที่จะทำให้โควิดเป็น Post Pandemic หรือพ้นการการระบาดใหญ่
“การปรับเราต้องทำแบบขั้นบันได โดยในช่วง 4 เดือนนี้ จะเป็นแผน 3 เฟส + 1 ทำให้เกิดเป็น Post Pandemic ที่ไม่มีการระบาดใหญ่อยู่ในช่วงปลอดภัย ส่วนการทำให้เป็น Endemic อาจต้องดูการประกาศจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ทั้งหมดต้องอยู่ในเงื่อนไข ว่า ไวรัสไม่มีการกลายพันธุ์รุนแรงเข้ามา โดยต้องทำอย่างมีสเต็ป ไม่ใช่ว่า 4 เดือนแล้วจะเปิดหน้ากาก มีกิจกรรมสังคมเต็มที่ อาจตั้งเป้าหมายอย่างเรื่องการใส่หน้ากาก ก็สนับสนุนให้คนป่วยใส่หน้ากาก ส่วนคนทั่วไปก็ผ่อนคลายมากขึ้นอาจไม่ใส่ในพื้นที่เปิดโล่ง เช่น สวนสาธารณะอาจจะเป็นแห่งแรกที่ไม่ต้องสวมหน้ากากเพื่อให้ชีวิตเป็นปกติ ส่วนกิจกรรมรวมกลุ่มก็อาจผ่อนคลายให้รวมตัวมากขึ้น เช่น สนามกีฬา คอนเสิร์ต เป็นต้น แต่ต้องมีมาตรการป้องกันอยู่ เพื่อไม่ให้เกิดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว