xs
xsm
sm
md
lg

ประเมินผลรับมือ “โควิด” ตามแนวทาง WHO ไทยอยู่ระดับดีมาก คาดปรับสู่โรคประจำถิ่นใน ก.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.ร่วมมหาวิทยาลัย ประเมินผลรับมือ โควิด” ของไทย ตามแนวทาง WHO พบอยู่ระดับดีมาก ความรุนแรงโรคลดลง คาดเข้าสู่โรคประจำถิ่นได้ใน ก.ค.นี้ เน้นรักษาแบบผู้ป่วยนอก แยกกักที่บ้าน กรณีไม่มีอาการ หรืออาการน้อย เข้า รพ.เมื่อเสี่ยงรุนแรง อนาคตจ่อปรับเป็นฉีดวัคซีนประจำปีในกลุ่มเสี่ยง เร่งสื่อสารทำความเข้าใจ

เมื่อวันที่ 5 มี.ค. นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ความรุนแรงของโรคโควิด-19 ทั่วโลก และไทยมีทิศทางลดลง สธ.จึงวางแผนการบริหารจัดการเพื่อเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ล่าสุด ทีมวิจัยของ สธ.ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเมินผลการรับมือสถานการณ์โควิด-19 โดยลงพื้นที่จริง ทั้งในระดับประเทศและพื้นที่ จำนวน 8 พื้นที่หลัก และ 44 พื้นที่ย่อย เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย การเตรียมความพร้อมและมาตรการสำคัญในการรับมือสถานการณ์ในระยะถัดไปจนเข้าสู่การยุติการระบาด โดยประเมินตามสมรรถนะหลักขององค์การอนามัยโลก (WHO) และถอดบทเรียน ทบทวนหลังปฏิบัติงาน พบว่า 1. ประเทศไทย และ สธ.มีสมรรถนะและการรับมือสถานการณ์อยู่ในระดับดีมาก ใน 7 องค์ประกอบหลัก เช่น ภาวะผู้นำ การบริหารจัดการ กำลังคน ยา เวชภัณฑ์ วัคซีน ระบบบริการ การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ

2. ขณะนี้สถานการณ์ส่วนใหญ่ทั่วโลกและไทย อยู่ในระยะปรับตัวเข้าสู่การยุติการระบาดใหญ่ (Pandemic Ending) เป็น “โรคประจำถิ่น (Endemic)” จากปัจจัยของเชื้อที่ลดความรุนแรงลงมาก สถานการณ์อยู่ในระยะทรงตัวและชะลอการเพิ่มจำนวน คาดว่า จะดีขึ้นตามลำดับและเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นในต้น ก.ค. 2565 ซึ่งปัจจัยสำคัญในการยุติการระบาดใหญ่ คือ ระดับภูมิคุ้มกันโควิด-19 ของประชาชน ต้องขอความร่วมมือรับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรงและเสียชีวิตลงให้มากที่สุด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งเข็มกระตุ้นจะลดโอกาสเสียชีวิตลงถึง 41 เท่า รวมถึงยังต้องเข้มมาตรการป้องกันการติดเชื้อ เพื่อลดและชะลอจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ซึ่งจะช่วยลดโรคทางเดินหายใจอื่นๆ ด้วย เช่น วัณโรค ไข้หวัดใหญ่

3. ระบบบริการการแพทย์และสาธารณสุข เช่น ระบบป้องกันควบคุมโรค บุคลากร ยา เวชภัณฑ์ และจำนวนเตียงมีความพร้อมรับสถานการณ์ แต่ต้องปรับการดูแลรักษาในลักษณะเดียวกับโรคติดต่อทั่วไป เช่น ไข้หวัดใหญ่ โดยผู้ที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อยรักษาตัวแบบผู้ป่วยนอก ดูแลตนเองที่บ้าน และรับเป็นผู้ป่วยในกรณีเสี่ยง หรืออาการรุนแรง ส่วนการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค จะเน้นสอบสวนควบคุมการระบาดที่เป็นกลุ่มก้อน เฝ้าระวังการกลายพันธุ์และเพิ่มความรุนแรง และพิจารณาให้วัคซีนระยะถัดไปเป็นการให้วัคซีนประจำปีในกลุ่มเสี่ยงคล้ายวัคซีนไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้ ต้องเร่งพัฒนาระบบสาธารณสุขในเขตเมืองขนาดใหญ่ เช่น  กทม.

4. ระบบเวชภัณฑ์ ยา วัคซีน สามารถบริหารจัดการได้ดี มีจำนวนเพียงพอ นโยบายรัฐบาลมีความต่อเนื่องในการพัฒนาความมั่นคงด้านสุขภาพ โดยส่งเสริมสนับสนุนการผลิตภายในประเทศ เพื่อพร้อมรับมือวิกฤตด้านสุขภาพและโรคติดต่ออุบัติใหม่อื่นในอนาคต และ 5. ต้องเร่งพัฒนาระบบการสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ทันสมัยและเชิงรุก ทั้งสื่อสังคมออนไลน์และสื่ออื่นให้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม บริหารจัดการข่าวปลอมอย่างมีประสิทธิภาพ เตรียมความพร้อมเข้าสู่ “โรคประจำถิ่น” โดยสร้างความรู้ ความเข้าใจ การปรับตัว ทั้งในภาคประชาชน สังคม วัฒนธรรม การใช้ชีวิตรูปแบบวิถีใหม่ มาตรการทางสังคมที่ดีและเหมาะสม เช่น การป้องกันตนเองและผู้อื่น ความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดหรือการแพร่เชื้อ เป็นต้น

“หากเทียบเคียงกับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ 2019 เมื่อปี 2552 ขณะนี้เป็นการเข้าสู่การยุติการระบาดใหญ่และปรับตัวไปเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งวิกฤตโรคโควิด-19 ครั้งนี้จะสิ้นสุดลงได้ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งการบริหารจัดการและมาตรการในระดับชาติและพื้นที่ ความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ที่สำคัญคือ การสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือจากประชาชน” นพ.รุ่งเรือง กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น