ศบค.ประชุม 18 มี.ค. จ่อคลายล็อกเพิ่ม ให้ใช้ชีวิตตามปกติ เหตุแม้ติดเชื้อเพิ่ม แต่ระบบสาธารณสุขยังรองรับได้ ห่วงยอดตายยังทรง ส่วนใหญ่ไม่ได้วัคซีน เร่งฉีดผู้สูงอายุเข็ม 3 ย้ำ รพ.ศึกษาเกณฑ์เหลืองแดง UCEP Plus ให้ดี ชี้ไข้สูง 39 องศาเกิน 24 ชม. ก็ใช้สิทธิฉุกเฉินวิกฤตได้แล้ว เน้นย้ำกลุ่มเสี่ยงรีบเข้ารักษา ห่วงบางรายมารักษาตอนอาการหนักทำรอดยาก
เมื่อวันที่ 14 มี.ค. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด 19 ประจำวัน ว่า วันที่ 18 มี.ค.จะมีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ซึ่งจะมีการพูดคุยหลายมาตรการในการรับมือโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งขณะนี้แม้จะมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ระบบสาธารณสุขยังอยู่ในเกณฑ์รองรับได้ ก็มีความเป้นไปได้ที่จะผ่อนคลายกิจการ กิจกรรมต่างๆ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ แต่ยังต้องเน้นการป้องกันตัวเองอย่างเข้มข้น เพื่ออยู่ร่วมกับโควิดอย่างปลอดภัยทั้งตัวเองและคนรอบข้าง
สำหรับสถานการณ์โควิด 19 วันนี้ ประเทศไทยรายงานติดเชื้อใหม่จาก RT-PCR 22,130 ราย จาก ATK 15,650 ราย ยอดสะสมไม่เกิน 5 หมื่นราย หายป่วย 23,508 ราย สูงกว่าติดเชื้อใหม่เล็กน้อย กำลังรักษา 225,889 ราย จำนวนนี้อาการหนัก 1,353 ราย ใช้เครื่องช่วยหายใจ 453 ราย เสียชีวิต 69 ราย โดยพบว่า 61 รายหรือ 89% รับวัคซีนไม่ครบโดส มีถึง 26 ราย ไม่ได้รับวัคซีนเลยสักเข็ม ตรงนี้สำคัญ ซึ่งประชากร อายุ 60 ปีขึ้นไป มี 12.7 ล้านราย รับเข็มแรกแล้ว 83.3% เข็มสอง 78.8% ส่วนเข็มสาม 32% หมายความว่าผู้สูงอายุอีกว่า 2 ล้านคนยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มหนึ่ง ทั้งนี้ คนรับเข็มสองเกิน 3 เดือน ขอให้ลูกหลาน หน่วยงานรัฐและเอกชนในพื้นที่ช่วยค้นหาผู้สูงอายุกลุ่มนี้มารับวัคซีน ซึ่งการช่วยเซฟญาติผู้ใหญ่ในบ้านทำให้เทศกาลสงกรานต์ที่มาถึง หากรับวัคซีนก่อนก็จะไปเยี่ยมอย่างสบายใจ
สำหรับ 10 จังหวัดที่รายงานติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1.กทม. 3,060 ราย 2.นครศรีธรรมราช 1,268 ราย 3.ชลบุรี 1,117 ราย 4.สมุทรปราการ 935 ราย 5.นนทบุรี 757 ราย 6.สมุทรสาคร 666 ราย 7.พระนครศรีอยุธยา 609 ราย 8.ปทุมธานี 588 ราย 9.นครปฐม 573 ราย และ 10.ราชบุรี 540 ราย โดยจังหวัดที่มีป่วยอักเสบสูงและเสียชีวิตสูงก็สอดคล้องกับจังหวัดที่มียอดติดเชื้อใหม่สูงด้วย
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า การติดเชื้อปีนี้และปีที่แล้วขณะนี้เริ่มใกล้เคียงกัน โดยช่วงวันที่ 14 ส.ค.2564 มีการติดเชื้อรายสัปดาห์สูงสุด 139,235 ราย ส่วนสัปดาห์นี้ของ มี.ค. 2565 อยู่ที่ 151,535 ราย ส่วนวันที่ 13 ส.ค 2564 มีการติดเชื้อรายงานสูงสุด 23,418 ราย ปอดอักเสบรายงานสูงสุดวันที่ 16 ส.ค. 2564 จำนวน 5,626 ราย ขณะที่วันนี้รายงานติดเชื้อ 22,130 ราย ปอดอักเสบอยู่ในระดับ 900-1,000 ราย ดังนั้น แม้ยอดติดเชื้อรายใหม่ช่วงสูงสุดที่จำนวนใกล้เคียงกันติดเชื้อ แต่การครองเตียงของผู้ป่วยหนักน้อยกว่า ซึ่งการพิจารณาต่างๆ เราต้องพิจารณาศักยภาพการเข้าสู่ระบบการรักษาด้วย
ทั้งนี้ แนะนำให้ผู้ติดเชื้อรีบเข้าระบบการรักษาให้เร็ว เนื่องจากค่ามัธยฐานจำนวนวันที่พบติดเชื้อจนเสียชีวิตอยู่ที่ 5 วันเท่านั้น เนื่องจากรับรู้ว่าติดเชื้อล่าช้า เข้าระบบรักษาล่าช้า บางรายรับเชื้อไม่ทราบว่าป่วย จนไปเข้ารักษาเพียง 1-3 วันก็เสียชีวิต มาถึงในภาวะรุนแรง บุคลากรทางการแพทย์อาจไม่สามารถช่วยชีวิตได้ ดังนั้น เน้นย้ำประชาชนเมื่อมีประวัติไอ ไข้ อาการระบบทางเดินหายใจ หรือไม่มีอาการ แต่สงสัย สัมผัสป่วยยืนยัน สัมผัสเสี่ยงสูง หรือไปพื้นที่เสี่ยง เข้าพื้นที่กิจกรรมกิจการเสี่ยง ตรวจ ATK ด้วยตนเอง สังเกตคนรอบข้าง และเข้าระบบรักษาให้เร็วที่สุด โดยติดต่อ 1330 ภายใน 6-24 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับจับคู่สถานพยาบาล ส่วนกรณียังไม่ได้รับการติดต่อกลับหลัง 24 ชั่วโมง ต้องขออภัยจริงๆ เพราะปริมาณผู้ป่วยเข้าระบบอาจเกิน 4 หมื่นรายต่อวัน ทำให้เกิดการรอคอย
วันนี้ ศบค.ชุดเล็กพิจารณารับทราบระเบียบการประเมินคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตโควิด 19 UCEP Plus ซึ่งก่อนหน้านี้ ศบค.ขอความร่วมมืออาการสีเขียว ไม่รุนแรงเข้าระบบ 1330 สงวนเตียงเหลืองแดงให้ผู้ที่จำเป็นจริงๆ โดยโทร 1669 แต่ขณะนี้ สธ.มีการปรับเกณฑ์ให้สอดคล้องมากขึ้น ขอให้สถานพยาบาลศึกษาให้ดี โดยมีการเพิ่มความเสี่ยงให้ประชาชนเข้ารับบริการได้ง่ายยิ่งขึ้น 9 ระดับ เช่น ไข้สูง 39 องศาเซลเซียสนาน 24 ชั่วโมง ก็ถือว่าเข้า UCEP Plus แล้ว หายใจเร็วขึ้น 25 ครั้งต่อนาที ผู้ใหญ่ออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 94% หรือผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดัน หัวใจ ปอด ก็เข้าเกณฑ์เข้ารับบริการ กลุ่มเด็ก หญิงตั้งครภร์ ตับแข็ง ภูมิคุ้มกันต่ำ กลุ่มเหล่านี้ก็ต้องรีบเข้าระบบรักษาให้เร็วที่สุดหากอาการเปลี่ยนแปลง