สสส. - ศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน 12 แห่ง จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติ ด้านการออกแบบเพื่อทุกคน ครั้งแรกในประเทศไทย มอบรางวัลบุคคล - องค์กรต้นแบบ Universal Design ดันนโยบาย สร้างสภาพแบบล้อม – ระบบขนส่งสาธารณะ ช่วยชีวิตคนพิการและผู้สูงอายุ
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติด้านการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal design) ครั้งที่ 1 The First National Academic Conference on Universal Design: 1st NACUD2022 รูปแบบการจัดงานแบบ Hybrid ภายใต้หัวข้อ “Inclusive Environment : A New Normal Life” รวบรวมและถ่ายทอดองค์ความรู้นวัตกรรม ด้านการปรับสภาพแวดล้อม เพื่อผลักดันนโยบายให้ผู้สูงอายุและคนพิการให้มีสุขภาวะที่ดี
รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน กล่าวรายงานว่า วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจข้อมูลปี 2559 พบว่า ประเทศไทยมีสิ่งอำนวยความสะดวก เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ ได้แก่ โรงพยาบาล คิดเป็น 40% สำนักเขต คิดเป็น 30.8% ห้างสรรพสินค้า คิดเป็น 12.5 % บ้านที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม คิดเป็น 7.3% ของประเทศ และยังมีพื้นที่ที่ต้องเร่งผลักดันให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ ตลาดสด ศูนย์บริการสาธารณะสุข สวนสาธารณะ สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ ศาสนสถาน และห้องสมุด เพราะการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล หรือ Universal Design (UD) ถือเป็นการยกระดับสุขภาวะของประชากรกลุ่มเปราะบาง หลักสำคัญของการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อคนทั้งมวล มีความสากลและเป็นธรรม ไม่เพียงแต่ครอบคลุมกลุ่มประชากรเปราะบาง แต่ยังครอบคลุม “คนทุกคน”
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร กรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 รองประธานกรรมการกำกับทิศทางการจัดปรับสภาพแวดล้อมและระบบขนส่งสาธารณะ กล่าวว่า สสส. ยินดีอย่างยิ่งที่ได้ขับเคลื่อนและผลักดันโครงการเครือข่ายศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน จนเกิดเป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ สะท้อนให้เห็นว่าภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชน ให้ความสนใจต่อสิทธิความเป็นอยู่ในชีวิตของคนพิการและผู้สูงอายุ เพราะอยู่ในกลุ่มเปราะบางที่ต้องเผชิญความยากลำบากในชีวิตประจำวัน เช่น การเข้าถึงบริการสาธารณะ ที่ยังขาดแนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก และความปลอดภัย เพื่อทำให้คนกลุ่มนี้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีศักดิ์ศรี
นพ.อนุชา กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ จำนวน 2.09 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 3.21 ของประชากรทั้งประเทศ และในปี 2565 จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) เพราะจะมีผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศประมาณ 66.19 ล้านคน และอีก 12 ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มเป็นร้อยละ 28 ของประชากรทั้งประเทศ ทำให้ สสส. และภาคีเครือข่ายคำนึงถึงการออกแบบที่เป็นธรรม เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับบริการสาธารณะ และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เอื้อประโยชน์กับผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้เจ็บป่วย หรือผู้ที่มีความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันแตกต่างจากบุคคลทั่วไปด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด
ภายในงานมีการมอบรางวัลบทความดีเด่น บุคคลต้นแบบ องค์กรต้นแบบ Universal Design presented by TOTO โดย นายทาคายะสุ ชิมาดะ ประธานบริษัท โตโต้ (ประเทศไทย) จำกัด สำหรับแนวทางการตัดสิน มีดังนี้ 1.มีผลงานการดำเนินงานด้าน UD หรือที่เกี่ยวข้อง หรือเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือให้การดำเนินงานด้าน UD ประสบผลสำเร็จ Impact 2.มีผลงาน ความร่วมมือ ในการดำเนินการของ UDC 3.มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมีความกระตือรือร้นในการศึกษา หาองค์ความรู้ใหม่ เพื่อใช้ในการพัฒนาตนเองและปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายของ UD มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และ 4.ยึดมั่นในหลักการและจรรยาบรรณของวิชาชีพ ไม่เบี่ยงเบนด้วยอคติ หรือผลประโยชน์ส่วนตน สามารถประยุกต์ใช้ความรู้วิชาชีพร่วมกับหลักการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design: UD)
นอกจากนี้ ยังมีการออกบูธจัดแสดงสินค้า-อุปกรณ์สำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ จากผู้ประกอบการภาคธุรกิจที่ให้การสนับสนุนในการจัดงานครั้งนี้ ได้แก่ บริษัท โตโต้ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไทย-เยอรมัน เดคคอร์ จำกัด, บริษัท กวินไดนามิค จำกัด, บริษัท ฟูคูวี (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท รีไล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ภาภรอัณณ์ จำกัด และ บริษัท ฮาน ดี ดี ไนน์ จำกัด