เปิดงบดูแลโควิด 63-65 รวมกว่า 1.3 แสนล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 1.01 แสนล้านบาท พบสิทธิ UCEP COVID เป็นกลุ่มสีเขียวถึง 88% อาการสีแดงและเหลืองรวมกันแค่ 12% ศบค.ย้ำสิทธิ UCEP COVID รักษาทุกที่ยังอยู่ หากจะปรับเกณฑ์ ทำ UCEP Plus ต้องไม่เดือดร้อน ฉุกเฉินต้องได้รับการดูแล 1 มี.ค.ปรับราคาค่ารักษาสีเขียวเหลือ 1.2 หมื่นบาท สีเหลือง 6.93 หมื่นบาท และสีแดง 2.14 แสนบาท
เมื่อวันที่ 23 ก.พ. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ว่า เรื่องที่ 2 คือ การดูแลรักษาค่าใช้จ่ายในการบริการโควิด-19 ซึ่งเลขาธิการ สปสช. เสนอข้อมูลว่า ปี 2563 ใช้งบประมาณดูแล 3,841 ล้านกว่าบาท ปี 2564 สูงขึ้นเป็น 97,747 ล้านบาท โดยเป็นส่วนของกรมบัญชีกลางสิทธิข้าราชการ 3,652 ล้านบาท ประกันสังคม 42,917 ล้านบาท และบัตรทอง 51,177 ล้านบาท ส่วนปี 2565 ใช้งบประมาณดูแลแล้ว 32,488 ล้านบาท และของบเพิ่มวงเงินพอๆ กับปีที่แล้วอีก 51,065 ล้านบาท
สำหรับการเบิกจ่าย พบว่า ภาครัฐมี รพ. 3,506 แห่ง เบิกจ่ายแล้ว 70,994 ล้านบาท ยังไม่จ่าย 3,090 ล้านบาท ส่วน รพ.เอกชนมี 672 แห่ง เบิกจ่ายแล้ว 27,260 ล้านบาท รวมเบิกจ่ายทั้งรัฐและเอกชนแล้ว 101,344 ล้านบาท ส่วนค่าเฉลี่ยการจ่ายค่ารักษาโควิด 19 ตามระดับอาการ พบว่า อาการสีเขียว ภาครัฐอยู่ที่ 23,248 บาทต่อคน เอกชนอยู่ที่ 50,326 บาทต่อคน, อาการสีเหลืองภาคัรฐอยู่ที่ 81,844 บาทต่อคน และเอกชน 92,752 บาทต่อคน และอาการสีแดงภาครัฐอยู่ที่ 252,182 บาทต่อคน และเอกชน 375,428 บาทต่อคน ซึ่งภาคเอกชนอาการแต่ละระดับสูงกว่าภาครัฐพอสมควร ซึ่งวันที่ 1 มี.ค.เป็นต้นไป สปสช.มีการปรับราคา เนื่องจากโอมิครอนอาการไม่รุนแรง โดยกลุ่มอาการสีเขียวจ่าย 12,000 ต่อคน สีเหลือง 69,300 บาทต่อคน และสีแดง 214,400 บาทต่อคน
ส่วนสัดส่วนเงินที่ใช้กรณี UCEP COVID แยกตามอาการ พบว่า เป็นกลุ่มสีเขียวไปใช้บริการถึง 88% ทั้งที่ผู้ที่ควรจะเข้าใช้สิทธิเป็นกลุ่มสีแดง แต่พบ 1% และกลุ่มสีเหลืองที่พบ 11% รวมเป็น 12% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผอ.ศบค.แจ้งว่ายังคงให้สิทธินี้อยู่ แต่จะปรับเกณฑ์หรือทำ UCEP Plus อะไรต่างๆ ก็ให้เสนอขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนไม่เดือดร้อน ได้รับสิทธิดูแลภาวะฉุกเฉิน ให้สมเหตุสมผลกับค่าใช้จ่าย โดยให้เลขาธิการ สปสช.ไปทำรายงานมานำเสนออีกครั้ง