พยากรณ์โรคสัปดาห์นี้ คาดพบป่วย“ไข้เลือดออก” เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ หลังมีฝนตกหลายพื้นที่ เผย กลุ่มเด็กติดเชื้อมากสุด แต่ที่เสี่ยงดับ คือ สูงอายุ โรคเรื้อรัง โรคอ้วน แนะอาการคล้ายกันทั้งไข้เลือดออก หวัดใหญ่ โควิด หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ เหนื่อยหอบ สวมหน้ากาก กินยาพาราเซตามอล ห้ามกินยากลุ่มเอ็นเสด
เมื่อวันที่ 20 ก.พ. กรมควบคุมโรค เผยแพร่พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์ วันที่ 20-26 ก.พ. 2565 เตือนพบโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น โดยระบุว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 9 ก.พ. พบผู้ป่วย 305 ราย เสียชีวิต 2 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวน 112 ราย กลุ่มอายุพบมากที่สุด คือ 5-14 ปี รองลงมา คือ 15-24 ปี จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ กทม. ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ได้แก่ มีโรคประจำตัว และการได้รับยา NSAIDs
การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ คาดว่า ในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นทุกภาคทั่วประเทศ เนื่องจากมีฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะและวัสดุต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออก ส่วนใหญ่กลุ่มผู้ป่วยที่พบในช่วงนี้เป็นเด็กวัยเรียน แต่ผู้ที่ติดเชื้อโรคไข้เลือดออกและเสี่ยงต่อการเสียชีวิต คือ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และกลุ่มผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์
กรมควบคุมโรคขอความร่วมมือประชาชนสำรวจแหล่งน้ำขังที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณรอบบ้าน ตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1. เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง ไม่มีบริเวณอับทึบให้ยุงลายเกาะพัก 2. เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บเศษภาชนะที่ไม่ต้องการทิ้งไว้ในถุงดำมัดปิดปากถุง และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3. เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะไม่ใช้ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำหรือปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ และเน้นการป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยทายากันยุง และนอนในมุ้ง ซึ่งสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1. โรคไข้เลือดออก 2. โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และ 3. โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา
ทั้งนี้ หากมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ซึ่งอาจมีลักษณะคล้ายกันหลายโรค ทั้งไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก และโรคโควิด 19 ขอให้สวมหน้ากากอนามัย 100% รับประทานยาลดไข้ 1-2 วัน โดยให้เลือกพาราเซตามอล หลีกเลี่ยงการรับประทานยากลุ่มเอ็นเสด เช่น ยาไอบูโปรเฟน แอสไพริน หรือยาแก้ปวดไดโคลฟีแนค เพราะหากเป็นไข้เลือดออก ยากลุ่มนี้จะมีฤทธิ์ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร ส่งผลทำให้การรักษายุ่งยากและเสี่ยงต่อการทำให้มีอาการหนักมากขึ้น หากทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาต่อไป