xs
xsm
sm
md
lg

กรมวิทย์เผยยังไม่พบสัญญาณ “โอมิครอน BA.2” รุนแรงทำคนป่วยหนักกว่าเดลตา แต่ยังต้องติดตามต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมวิทย์ เผย โอมิครอนติดเชื้อหมื่นรายเท่าช่วงเดลตา แต่ตายน้อยกว่า 10 เท่า ยังไม่พบสัญญาณ BA.2 ทำคนป่วยหนัก ส่วนจะรุนแรงกว่า BA.1 หรือไม่ หรือมีลักษณะรุนแรงอย่างไร ต้องใช้เวลาเก็บข้อมูลก่อน

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีการระบุข้อมูลเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ โอมิครอน BA.2 มีความรุนแรงเทียบเท่ากับเดลตา ว่า ข้อมูลที่จะบอกว่า โอมิครอน BA.2 มีความรุนแรงกว่า BA.1 หรือมีลักษณะความรุนแรงอย่างไรจะต้องใช้เวลาในการเก็บข้อมูลจากผู้ติดเชื้อโอมิครอน BA.2 ในไทย ซึ่งกรมวิทย์สุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวช่วงวันที่ 5-11 ก.พ. จากผู้ติดเชื้อ 1,975 ตัวอย่าง พบ BA.2 ประมาณ 400-500 ราย คิดเป็น 18.5% จึงได้ประสานกับกรมการแพทย์ส่งข้อมูลผู้ติดเชื้อ BA.2 เพื่อให้แพทย์เก็บข้อมูลทางคลินิก อาการของผู้ติดเชื้อ โดยปกติจะใช้เวลามากกว่า 14 วัน ทั้งยังดูอาการหลังจากทหายแล้วต่ออีก

“BA.2 ยังอยู่ในลำดับชั้นโอมิครอนเดิม แต่มีการจับตามอง (Interesting) ส่วนการตรวจรักษาไม่จำเป็นต้องแยกสายพันธุ์ เรารักษาตามอาการ วัคซีนยังลดความรุนแรงได้ทั้งเดลตาและโอมิครอน” นพ.ศุภกิจ กล่าว

เมื่อถามถึงธรรมชาติของไวรัสจะกลายพันธุ์รุนแรงขึ้นต่อเนื่อง หรือเบาลดลง นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง หากไวรัสแรงเกินไป ในอดีตเราเห็นว่าไม่เคยอยู่ได้นาน เพราะคนติดเชื้ออาการรุนแรงเสียชีวิต ไวรัสเองก็ตาย เช่น ไข้หวัดนก ป่วย 25 ราย ตาย 17 ราย โรคเมอร์ส โรคซาร์ส ที่อัตราเสียชีวิตสูง 10-20% ก็จะจบเร็ว ไวรัสที่จะเจ๋ง คือ ทำให้คนเสียชีวิตพอสมควร 3-5% แล้วแพร่เชื้อได้เรื่อยๆ ซึ่งโอมิครอน อัตราป่วยตายเริ่มต่ำลง ข้อมูลตอนนี้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการอะไรเลย

“เห็นชัดว่าโอมิครอนเมื่อเทียบกับเดลตา ตอนนั้นติดเชื้อ 1 หมื่นราย เสียชีวิต 200 กว่าราย ตอนนี้ติดเชื้อหลักหมื่นเท่ากัน แต่เสียชีวิต 20 ราย ส่วนความกังวลว่า BA.2 จะรุนแรงหรือไม่ ก็ต้องติดตาม แต่ยังไม่พบสัญญาณจะทำให้คนป่วยหนัก” นพ.ศุภกิจ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น