xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ อัศวิน เชิญชวนประชาชนกลุ่มเสี่ยงตรวจ ATK ฟรี ถึง 1เม.ย. เข้าสู่ระบบกักตัว ลดการแพร่ระบาดโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรุงเทพมหานครได้จัดบริการตรวจ ATK ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ทั้ง 11 แห่ง พร้อมเปิดจุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากทีมแพทย์เคลื่อนที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ แบบ Drive Thru สายใต้ใหม่ ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่บัดนี้ ถึง 1 เม.ย.65 เร่งให้บริการวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบาง

วันนี้ (17 ก.พ.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเกิดจากเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนที่สามารถแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ประกอบกับผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ยังคงออกไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ โดยที่ไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อและไม่ได้เข้าสู่ระบบการกักตัว ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อในวงกว้าง กรุงเทพมหานครจึงขอให้ประชาชนทุกคนที่มีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย หรือมีประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อ ให้รีบตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK ด้วยตนเอง โดยตรวจทันทีหากมีอาการป่วย หรือตรวจATKครั้งที่ 1 วันที่ 5-6 หลังสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อวันสุดท้าย และตรวจATK ครั้งที่ 2 วันที่ 10 หลังสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อวันสุดท้าย และหากพบว่าผลตรวจเป็นบวกให้ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการรักษา โทร.สายด่วน 1330 กด 14 หรือ โทร 1669 กด 2 หรือโทรสายด่วนโควิด EOC 50 เขต

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้จัดบริการตรวจ ATK ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ทั้ง 11 แห่ง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และ จุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ Drive Thru จากทีมแพทย์เคลื่อนที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ให้บริการตรวจโดยไม่ต้องลงจากพาหนะที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ ถนนบรมราชชนนี (สายใต้ใหม่) เขตตลิ่งชัน จนถึงวันที่ 1 เม.ย.65 โดยตรวจฟรีเฉพาะกลุ่มเสี่ยงตามที่ สปสช.กำหนด ได้แก่ 1.ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ และผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 7 โรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน (ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19) 2.ผู้ที่สงสัยว่ามีอาการติดเชื้อ (มีไข้ ไอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจหอบเหนื่อย หายใจลำบาก) 3.ผู้ที่อยู่ร่วมบ้านกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 และ 4. ผู้ที่ทำงานประสานงานในชุมชน

โดยทั้ง 4 กลุ่มเสี่ยงที่ประสงค์เข้ารับการตรวจหาเชื้อแบบ ATK กับโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กทม. สามารถประเมินความเสี่ยงด้วยตนเองผ่านเข้าระบบ BKKCOVID19 และลงทะเบียนจองคิวล่วงหน้าได้ที่สายด่วน ศูนย์ BFC ทั้ง 11 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โทร.0 2225 1354 โรงพยาบาลตากสิน โทร.0 2437 7677 โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โทร.0 2289 7986 โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โทร.0 2429 3575, 0 2429 3258 โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โทร.0 2543 2090 โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โทร.0 2327 3049 โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โทร.0 2444 3660 โรงพยาบาลสิรินธร โทร.0 2328 6760 โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน โทร.0 2452 7803 โรงพยาบาลคลองสามวา โทร.0 2150 1300 และโรงพยาบาลบางนากรุงเทพมหานคร โทร.0 2180 0202 ต่อ 103

สำหรับกรณีผู้สูงอายุยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นจำนวนมากนั้น กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ และสำนักอนามัย ได้เดินหน้าฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันทุกกลุ่มเป้าหมาย และเร่งรัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นทุกสูตรวัคซีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม 608 ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 โรค และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งต้องได้รับวัคซีน เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต ซึ่งการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการให้บริการทั้งในโรงพยาบาลและ ศูนย์บริการสาธารณสุข และการให้บริการนอกโรงพยาบาล ได้แก่ ศูนย์ฉีดวัคซีนกทม. หน่วยบริการฉีดวัคซีน (Mobile Unit) เช่น รถฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ กทม. (BMV) ทีม Bangkok CCRT หน่วยเชิงรุกกลุ่มเปราะบางติดบ้านติดเตียง เป็นต้น รวมทั้งมีมาตรการเชิงรุกในการเร่งรัดให้บริการวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง ใน Nursing Home ด้วย

รวมทั้ง ได้เน้นย้ำสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการเว้นระยะห่าง สำหรับครอบครัวที่มีสมาชิกอยู่รวมกันหลายคน โดยหากมีกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ควรมีการแบ่งพื้นที่เป็นมุมเฉพาะ แยกออกมาจากคนอื่น เพื่อให้มีพื้นที่ส่วนตัวเพื่อป้องกัน เนื่องจากกลุ่มเปราะบางเมื่อได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงกว่ากลุ่มที่แข็งแรง และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต สำหรับพื้นที่ส่วนกลางของชุมชนได้เน้นประชาสัมพันธ์เรื่องของการทำความสะอาด การคัดแยกขยะโดยเฉพาะขยะอันตราย ขยะติดเชื้อ เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อโรค สิ่งสำคัญคือขอความร่วมมือประชาชน ยังคงเคร่งครัดมาตรการป้องกันตัวส่วนบุคคลแบบครอบจักรวาลอย่างสูงสุด ซึ่งมาตรการส่วนบุคคลดังกล่าวจะเป็นการป้องกันการติดเชื้อ และเป็นมาตรการที่ทำให้ลดการแพร่ระบาดของเชื้อได้ด้วย





พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร


กำลังโหลดความคิดเห็น