อธิบดีกรมควบคุมโรค เผย วัคซีนไฟเซอร์ฝาส้มถึงไทย 3 แสนโดส ฉีดเด็ก 5-11 ปี แจงขั้นตอนกลุ่มเสี่ยงให้กุมารแพทย์อนุมัติ ย้ำไม่บังคับใช้ระบบสมัครใจของผู้ปกครอง
วันนี้ (26 ม.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในการแถลงข่าว สำหรับแนวทา งบริหารจัดการวัคซีนโควิดสำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี ว่า ขณะนี้วัคซีนไฟเซอร์ฝาสีส้มล็อตแรก 300,000 โดส ส่งมาถึงประเทศไทยส่วนที่เหลือ จะทยอยส่งเข้ามาโดยไตรมาสแรก 3.5 ล้านโดส จากยอดทั้งหมด 10 ล้านโด๊ส สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้มี กำหนดฉีดวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีส้มให้เด็กอายุ 5-11 ปี วันที่ 31 ม.ค. แบ่งเป็นฉีดที่โรงพยาบาล และฉีดที่โรงเรียน
ทั้งนี้ ในส่วนเด็กกลุ่มเสี่ยงคือเด็กอ้วน เด็กที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง เด็กที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง เด็กที่เป็นมะเร็ง และเด็กที่ภูมิคุ้มกันต่ำ เด็กที่เป็นเบาหวาน เด็กที่เป็นโรคทางพันธุกรรม กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม การบกพร่องทางประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า เป็นต้น จะมีกุมารแพทย์เป็นผู้พิจารณา ดำเนินการฉีดที่โรงพยาบาลเป็นหลัก โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 2 ครั้ง ห่างกัน 3-12 สัปดาห์ ส่วนการฉีดที่โรงเรียน 2 เข็ม ห่างกัน 8 สัปดาห์ พร้อมย้ำการฉีดเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครองไม่มีการบังคับเด็ดขาด
นพ.โอภาส ชี้แจงว่าในส่วนอาการข้างเคียงจากการฉีดวีคซีนไฟเซอร์ฝาสีส้ม ที่พบได้คือไข้ หนาวสั่น ปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีดซึ่งเมื่อเทียบกับการฉีดในเด็กโต จากข้อมูลสหรัฐอเมริกาเกิดผลข้างเคียงในเด็กเล็กค่อนข้างน้อยเพราะปริมาณที่ฉีดมีปริมาณน้อยกว่า ดังนั้นผู้ปกครองไม่ต้องกังวลใจมากนัก
นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี สรปุภาพรวมเด็กอายุ 5-11 ปี มีประมาณ 5 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง 9 แสนคน กระจายตามภูมิภาคต่างๆสำหรับการเตรียมตัวฉีดวัคซีน หากเด็กที่มีโรคประจำตัวให้ทานยารักษาโรคปกติ ทานอาหารและน้ำตามปกติ มาถึงโรงพยาบาลกุมารแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่ามีไข้หรือโรคประจำตัวมีอาการรุนแรงและอันตรายหรือไม่หากมีสิ่งเหล่านี้อาจชะลอการฉีดไปก่อน
ทั้งนี้ ในขั้นตอนการฉีดจะต้องเป็นสถานที่มิดชิด เพื่อลดความกังวลของเด็กและผู้ปกครอง หลังฉีดให้รอดูอาการ 30 นาที หลังกลับบ้านไปแล้วต้องเน้นว่า เหมือนกับทุกกลุ่มอายุ คือ 1 สัปดาห์ไม่ควรให้เด็กออกกำลังกาย รวมถึงการปีนป่ายการว่ายน้ำ ขอให้ผู้ปกครองช่วยดูแลตรงนี้ด้วย และเพื่อไม่ประมาทขอให้สังเกตตั้งแต่เข็มแรก หากมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจเร็ว เหนื่อยง่าย ใจสั่น โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัว หากมีไข้สูง ทานอาหารไม่ได้ ขอให้รีบไปโรงพยาบาลใกล้บ้าน