xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์เตือนภัย PM 2.5 สูง กระทบสุขภาพ ทำให้ระบบร่างกายผิดปกติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงที่อากาศหนาว มีความกดอากาศปกคลุมพื้นที่ กั้นฝุ่นไว้ไม่ให้ลอยตัวสูงขึ้น ฝุ่นควันจึงถูกกักสะสมเป็นปริมาณมากในพื้นที่ ศูนย์แบบจำลองคุณภาพอากาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ กรมควบคุมมลพิษ คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในบางพื้นที่ยังต้องเฝ้าระวังคุณภาพอากาศที่อาจมีผลต่อสุขภาพ

เมื่อเรารับสัมผัสฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เข้าสู่ร่างกายทางระบบหายใจ เนื่องจากขนาดของฝุ่น PM 2.5 เล็กมาก สามารถลงไปถึงถุงลม ปอด และอาจมีบางส่วนที่สามารถผ่านเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตได้ โดยทั่วไปร่างกายของมนุษย์จะรับรู้ได้ว่า ฝุ่น PM 2.5 เป็นสิ่งแปลกปลอมของร่างกาย และจะก่อสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ (Inflammation) รวมถึงอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกายขึ้น ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของระบบต่างๆ ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาทและสมอง

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบต่อสุขภาพจะสูงขึ้นในบุคคลบางกลุ่ม ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมในที่โล่งแจ้ง ซึ่งเสี่ยงต่อการสัมผัสมลพิษทางอากาศ เช่น ตำรวจจราจร พนักงานทำความสะอาดถนน คนขับรถรับจ้างประเภทสามล้อเครื่อง คนขับรถจักรยานยนต์ และแม่ค้าหาบเร่แผงลอย เป็นต้น จึงขอแนะนำประชาชนให้ปฏิบัติตน ดังนี้

1) ติดตามรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่ จากข้อมูลค่าตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ ทางเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน Air4thai เลี่ยงกิจกรรมบางชนิดในพื้นที่เสี่ยง เมื่อพบว่ามีค่าฝุ่นสูงในระดับสีส้มหรือสีแดง (มีปริมาณ PM 2.5 มากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)

2) ควรงดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น ลดการเผากลางแจ้ง หรือการเผาขยะ ปิดประตู ปิดหน้าต่าง ทำความสะอาดจุดต่างๆ ในบ้านด้วยผ้าชุบน้ำแทนการกวาด และเปิดพัดลมให้ระบายอากาศ หมั่นเช็คสภาพรถ ตรวจควันดำ เปิดระบบหมุนเวียนอากาศในรถ หรือใช้บริการรถโดยสารสาธารณะมากขึ้น

3) สวมหน้ากากป้องกันให้แนบกระชับใบหน้า โดยใส่หน้ากากทิชชู่ 1 แผ่นพับครึ่งสอดไว้ใต้หน้ากาก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน และหากต้องออกจากบ้านในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นสูง ควรเลือกหน้ากากกรองอากาศ ชนิด N95 ที่สามารถป้องกัน ฝุ่นขนาดเล็ก PM 10 และ PM 2.5 แก๊สไอระเหยต่างๆ ได้ เพื่อป้องกันตนเอง

4) เลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระ ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย

อธิบดีกรมควบคุมโรค ย้ำว่า ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสภาพอากาศและมลภาวะก่อนออกจากบ้าน หลีกเลี่ยงการปฏิบัติงานติดต่อกันเป็นเวลานานในพื้นที่ที่สถานการณ์คุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง และหากมีอาการไอ หายใจลำบาก เคืองตา ควรลดกิจกรรมกลางแจ้ง