xs
xsm
sm
md
lg

ยกเลิกสอบข้อเขียนเข้าป.1 อย่างเดียวไม่พอ!/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อต้นเดือนธันวาคม คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ชุดใหม่ที่มี ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน ได้เปิดเผยผลการประชุมนัดแรก นอกจากเรื่องนโยบายและแนวทางในการทำงานแล้วที่ประชุมได้พิจารณาร่างประกาศนโยบายรับนักเรียนประจำปีการศึกษา 2565 โดยเบื้องต้นยังคงกำหนดเกณฑ์ตามเดิมเหมือนปีที่ผ่านมา แต่จะมีการปรับเกณฑ์ในการรับนักเรียนระดับปฐมวัย โดยระดับชั้นอนุบาลต้องวัดผลเพื่อขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จะงดการสอบข้อเขียน ให้ใช้วิธีการอื่นในการคัดเลือกเข้าเรียนแทน โดยมอบหมายให้คณะกรรมการสถานศึกษาเป็นผู้กำหนดตามบริบทที่เหมาะสมต่อไป

งานนี้บรรดานักวิชาการปฐมวัย และพ่อแม่ผู้ปกครองที่เรียกร้องเรื่องนี้มาอย่างยาวนานได้เฮ เพราะการสอบข้อเขียนของเด็กวัยอนุบาลขึ้นชั้นป.1 ไม่เป็นผลดีต่อพัฒนาการตามวัย และก่อให้เกิดความเครียดสะสมในตัวเด็ก จนนำไปสู่การผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562

 เรื่องการสอบแข่งขันในระบบการศึกษาบ้านเราต้องจัดว่าอยู่ในระดับไม่แพ้ชาติใดในโลก เราเน้นการแข่งขันในทุกระดับ มีการจัดสอบวัดผลด้วยคะแนนมาโดยตลอด ทำให้เด็กนักเรียนต้องเรียนอย่างหนัก จนต้องมีการกวดวิชาอย่างระห่ำ และการวัดผลด้วยการแข่งขันโดยเฉพาะการสอบเข้าเพื่อเปลี่ยนช่วงชั้นก็เพิ่มดีกรีการแข่งขันมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่เด็กนักเรียนก็เล็กลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งเด็กวัยอนุบาลต้องติวเพื่อสอบเข้าป.1

และอีกส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างครอบครัวที่เปลี่ยนไป พ่อแม่มีลูกน้อยลง ทำให้มีความคาดหวังในตัวลูกสูงไปด้วย มีทัศนคติว่าลูกต้องเรียนโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ลูกต้องเป็นเด็กเก่ง และเด็กเก่งในความหมายของพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมากคือ การเรียนเก่ง และการเรียนในสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงเท่านั้น

พลันทำให้นึกถึงเรื่องเมื่อราวเดือนกันยายนที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการของจีนประกาศห้ามการสอบข้อเขียนสำหรับเด็กที่มีอายุ 6-7 ปี ซึ่งก็สอดคล้องกับช่วงวัยของเด็กนักเรียนบ้านเรา ด้วยเหตุผลเพราะการสอบที่มากเกินไปส่งผลให้นักเรียนต้องรับภาระหนักและอยู่ภายใต้ความกดดัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจและร่างกายอย่างมาก

กฎระเบียบใหม่ยังจำกัดการสอบในชั้นปีอื่น ๆ ของการศึกษาภาคบังคับ ไม่ให้เกินภาคการศึกษาละ 1 ครั้ง และห้ามท้องถิ่นจัดสอบระดับภูมิภาคหรือระหว่างโรงเรียนสำหรับชั้นประถมศึกษาทั้งหมด ส่วนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่ยังไม่จบการศึกษา ห้ามโรงเรียนจัดสอบย่อย และห้ามเลี่ยงไปเปิดการสอบในชื่ออื่น ๆ ด้วย

ครั้งนี้ต้องถือเป็นการเดินหน้าแผนปฏิรูปการศึกษาครั้งสำคัญของจีน เพื่อลดความกดดันต่อนักเรียน และพ่อแม่ในระบบโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงในทุกระดับ เพราะก่อนหน้านี้การแข่งขันเรื่องการศึกษาในจีนหนักมาก ประมาณว่าถ้าพลาดไปเพียงคะแนนเดียว ก็สามารถชี้ขาดอนาคตได้ ทำให้เกิดการแย่งกันกวดวิชาสุดฤทธิ์ ส่งผลต่อภาวะความเครียดของเด็กนักเรียนจีนอย่างมาก

วิธีปฏิรูปการศึกษาของจีน คือความพยายามในการแก้ปัญหาเป็นระบบที่ส่งผลกระทบถึงกัน ซึ่งหมายรวมถึงการศึกษาในระดับชั้นอื่นๆ รวมถึงโรงเรียนกวดวิชาด้วย โดยก่อนที่รัฐบาลจีนจะประกาศห้ามการสอบข้อเขียนในเด็กเล็ก จีนได้ให้บรรดาบริษัทกวดวิชาของเอกชนทั้งหมดแปลงเป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร และให้สอนบทเรียนได้เฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์วันละ 1 ชั่วโมง และห้ามสอนวิชาหลัก
นี่ยังไม่นับรวมถึงนโยบายเรื่องครูในสถานศึกษา ที่ต้องให้สลับปรับเปลี่ยนกันไปรับตำแหน่งในโรงเรียนต่าง ๆ ทุก 6 ปี เพื่อป้องกันไม่ให้ครูที่มีความรู้ความสามารถกระจุกอยู่ในโรงเรียนระดับหัวกะทิบางแห่งเท่านั้น

ที่สำคัญกว่านั้น ยังได้ออกตำเตือนไม่ให้โรงเรียนต่าง ๆ มีห้องเรียนพิเศษประเภทห้องกิ๊ฟเต็ด หรือห้องอัจฉริยะใด ๆ รวมถึงเมื่อต้นปีก็สั่งห้ามครูให้การบ้านแบบข้อเขียนสำหรับนักเรียนเด็กเล็ก รวมทั้งจำกัดการให้การบ้านนักเรียนมัธยมต้น ไม่ให้เกินวันละ 1.5 ชั่วโมง

ที่ยกตัวอย่างประเด็นดังกล่าวก็เพราะอยากจะบอกว่าการยกเลิกสอบเข้าป.1 เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ทำเรื่องเดียวอาจไม่ได้ผล เพราะปัญหารอบข้างที่ส่งผลซึ่งกันและกันที่มีลักษณะโดมิโน่ยังคงอยู่ ถ้าไม่มีแผนต่อเนื่องหรือแก้ปัญหาอื่น ๆ ที่เป็นตัวแปรด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทัศนคติของพ่อแม่ เรื่องสถาบันกวดวิชา หรือแม้แต่นโยบายของสถานศึกษา ฯลฯ

ฉะนั้น การยกเลิกสอบข้อเขียนเข้าป.1 ยังน่ากังวลว่าสุดท้ายจะสำเร็จหรือทำได้จริงหรือเปล่า หรือจะเป็นเหมือนอีกหลายเรื่องที่มีนโยบายที่ดี แต่ในภาคปฏิบัติก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ !


กำลังโหลดความคิดเห็น