xs
xsm
sm
md
lg

กสศ. ยูนิเซฟ ศธ. จับมือภาคี เปิดตัวโปรแกรมฟื้นฟูเรียนรู้ถดถอย ช่วยเด็กหลุดจากระบบทุกมิติในช่วงโควิด19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ  มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม  สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และจังหวัดสมุทรสาคร   จัดการประชุมสานพลังความร่วมมือหน่วยงานด้านการศึกษา “ก้าวไปด้วยกัน สู่สมุทรสาครโมเดล จังหวัดต้นแบบลดความเหลื่อมล้ำ  ฟื้นฟูการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน” เดินหน้าพันธกิจฟื้นฟูการศึกษาไทย  เปิดตัวโครงการวิจัยนำร่องฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย ป้องกันเด็กหลุดออกนอกระบบ ครอบคลุมทุกมิติ  

วันนี้ (7 ธ.ค.)นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่า โควิด-19 ส่งผลให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาถ่างกว้างขึ้น แม้มีความพยายามนำความรู้ไปถึงเด็กทุกช่องทาง แต่การเข้าถึงอุปกรณ์การเรียน หรือสภาวะครอบครัวที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ ก็ยังเป็นอุปสรรคและทำให้เด็กเผชิญกับภาวะการเรียนรู้ถดถอย และมีบางส่วนที่หลุดออกจากระบบ จากสาเหตุนี้ กสศ.ยูนิเซฟ และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประเมินสถานการณ์เบื้องต้น และนำมาสู่การออกแบบโครงการเพื่อฟื้นฟูความรู้ที่ถดถอย ป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบ และส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพให้เด็ก โครงการนี้เป็นโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ(Research and Development)  นำร่องในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ปิดเรียนยาวนาน เพื่อหาตัวแบบก่อนขยายผลไปทั่วประเทศ โดยมีงบประมาณส่วนหนึ่งในการสนับสนุน การดำเนินงานจะเชิญชวนสถานศึกษาทุกสังกัด ทั้ง สพฐ. อปท. และ สช. เข้าร่วม ด้วยรูปแบบที่ให้ความสำคัญกับทักษะด้านคณิตศาสตร์และทักษะการอ่าน ซึ่งพบว่าเป็นทักษะที่มีภาวะถดถอยมากที่สุดในช่วงการปิดโรงเรียน และเป็นสองทักษะที่เป็นพื้นฐานในการเรียนรู้วิชาอื่นๆ และภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ทักษะสังคม อารมณ์ สุขภาพกายสุขภาพใจ ก็เป็นสิ่งที่ต้องเติมเต็มและส่งเสริมพัฒนาการไปพร้อมๆ กัน

“เรามีทีมวิชาการที่เข้มแข็งอย่างมูลนิธิสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ที่ทำงานด้านนวัตกรรมการศึกษาระดับสากล มาเป็นโค้ชในการทำงานร่วมกับศึกษาธิการจังหวัด และสถานศึกษา และสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย(RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่เป็นเครือข่ายด้านงานวิจัย มาช่วยถอดบทเรียนวิธีการทำงานที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะนำไปใช้ขยายผลในอนาคต ดังนั้น สิ่งที่ได้จากโครงการนี้จะไม่ได้ก่อประโยชน์เพียงกับเด็กและเยาวชนในจังหวัดสมุทรสาครเท่านั้น แต่จะเป็นตัวแบบสำคัญที่จะขยายผลไปสู่จังหวัดอื่นๆ อีกด้วย” นางสาวธันว์ธิดา  กล่าว

นางสาวธันว์ธิดา  กล่าวต่อว่า จากประสบการณ์ทำงานด้านการจัดการศึกษาของ กสศ. พบว่า การทำงานระดับจังหวัดถือเป็นการย่อส่วนการทำงานให้แคบลง เป็นการแก้ไขปัญหาของประเทศตามจุดอ่อนจุดแข็งของพื้นที่นั้น เพราะทุกจังหวัดต่างมีอุปสรรคปัญหาที่จะนำไปสู่แนวทางการแก้ไขที่ต่างกัน  สำหรับจังหวัดสมุทรสาครเป็นพื้นที่ที่มีความร่วมมือในระดับจังหวัดที่เข้มแข็ง ซึ่งทาง กสศ. ยูนิเซฟ และกระทรวงศึกษาธิการ จะเข้ามาเสริมในส่วนของการค้นหานวัตกรรมมาช่วย เพื่อให้ไปสู่ผลลัพธ์ได้ดียิ่งขึ้น

ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย(RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มีงานวิจัยจากต่างประเทศที่แสดงให้เห็นว่ามีหลักฐานยืนยันของการเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยในช่วงวิกฤตโควิด-19 สำหรับในประเทศไทย ทางสถาบันฯ ได้ร่วมกับ กสศ. ทำงานวิจัยที่เก็บข้อมูลจากเด็กจากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ พบว่า ระดับการเรียนรู้ที่เด็กได้รับในแต่ละวันที่มาโรงเรียนนั้นแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีการปิดเรียนยาวนาน 

“ความถดถอยของการเรียนรู้หมายถึงการเปรียบเทียบทักษะของเด็กในช่วงเวลาการไปเรียนปกติกับการปิดเรียน ซึ่งวัดได้จากเครื่องมือทางสถิติ ซึ่งได้ผลวิเคราะห์หลักว่า การที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียนส่งผลกระทบเชิงลบกับทักษะคณิตศาสตร์ และ Working Memory(ความจำใช้งาน) ซึ่งหมายถึงความสามารถของเด็กในการจดจำข้อมูล และนำข้อมูลมาประมวลผลเพื่อนำกลับมาใช้ อันเป็นทักษะที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กโดยตรง โดยนัยยะสำคัญอยู่ที่การปิดโรงเรียนที่ยาวนานยิ่งสัมพันธ์กับทักษะที่สูญหายไปเพิ่มขึ้น บางกลุ่มตัวอย่างมีภาวะสูญหายของทักษะมากถึง 90% ข้อมูลเหล่านี้ย้ำเตือนว่าทุกหน่วยงานมีหน้าที่ร่วมกันในการฟื้นฟูความรู้ที่ถดถอย และสร้างแนวทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งยังคงไม่มีความแน่นอน”ดร.วีระชาติ กล่าว

ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธานมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม กล่าวว่า โควิด-19 คืออุปสรรคแต่ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสในการค้นหาโมเดลต่างๆ มาพัฒนาการศึกษาให้ปรับตัวเข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่ต้นแบบการจัดการศึกษา เป้าหมายของโครงการฯ จึงมุ่งไปสู่การสร้างนวัตกรรมในการบริหารจัดการสถานศึกษา และนวัตกรรมในการบริหารระดับจังหวัด โมเดลที่ดำเนินงาน เริ่มต้นจากสนับสนุนให้โรงเรียนสามารถประเมินภาวะการณ์เรียนรู้ถดถอยที่เกิดขึ้น  ควบคู่ไปกับสำรวจความพร้อมและความต้องการของครูและนักเรียน การส่งเสริมขีดความสามารถของครูและโรงเรียน ทั้งด้านเนื้อหา ศาสตร์การสอนและเทคโนโลยี  ด้วยวิธี Micro-Learning การเรียนรู้แบบผสมผสาน และสั้น กระชับ ในรูปแบบบทเรียนออนไลน์ การอบรมเชิงปฏิบัติการ  การให้คำปรึกษา และยังสนับสนุนปัจจัยพื้นฐานในการจัดการเรียนการสอน  รวมถึงเครื่องมือที่จำเป็น  จนสามารถพัฒนานวัตกรรมและออกแบบการเรียนรู้เพื่อลดภาวะความรู้ถดถอยให้แก่ผู้เรียนได้

สำหรับนักเรียนนั้น เน้นการฟื้นฟูพัฒนาทักษะการอ่าน  การเขียน ผ่านการเรียนการสอนทางไกล  การพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์ ผ่านกล่องการเรียนรู้หรือlearning box การพัฒนาทักษะสุขภาวะกายและจิต ใจ ผ่านการเรียนการสอนรายบุคคล  ครอบคลุมทั้งผู้เรียนปกติและผู้เรียนที่ต้องการช่วยเหลือเป็นพิเศษ  ทั้งหมดนี้ทำงานร่วมกับ ครู ผู้ปกครอง และกลไกอาสาสมัครชุมชนร่วมด้วย

“สุดท้ายแล้วเราไม่ได้มีเป้าหมายในการค้นพบสูตรสำเร็จที่จะนำไปใช้ได้กับทุกที่ แต่ต้องทำให้ครูในทุกพื้นที่มีความสามารถพัฒนาโปรแกรมฟื้นฟูความรู้ถดถอยให้แก่นักเรียน สามารถออกแบบนวัตกรรม การจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมในทรัพยากรที่จำกัด ซึ่งเราจะศึกษาทั้งความสำเร็จและล้มเหลวเพื่อนำมาขยายผลแบ่งปันระหว่างพื้นที่”ดร.นรรธพร กล่าว

นายณรงค์  รักร้อย  ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปีการศึกษา 2/2562 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนที่มีบุตรหลานอยู่ในวัยเรียนทั้งทางตรงและอ้อม ครัวเรือนยากจนลงทำให้เด็กและเยาวชนเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษามีจำนวนเพิ่มขึ้น เด็กจำนวนมากออกไปประกอบอาชีพ และหาเลี้ยงครอบครัว หรือหากยังคงอยู่ในระบบการศึกษา แต่สถานศึกษาหรือครูอาจยังไม่ได้มีความพร้อมจัดการสอนในสถานการณ์ที่วิกฤตและมีข้อจำกัด เช่น  การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ 100% การขาดอุปกรณ์สื่อกลางการเรียนรู้และหลักสูตรที่เหมาะสม ปัจจัยความพร้อมของเด็กที่แตกต่างกัน  ทำให้เด็กและเยาวชนเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย และยังมีเด็กจำนวนมากที่หลุดออกจากระบบไป 

ข้อมูลจากระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (iSEE) ของ กสศ. จังหวัดสมุทรสาครมีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ จำนวน 3,189 คน  ในจำนวนนี้เป็นนักเรียนยากจนพิเศษ ที่อยู่ในครัวเรือนฐานะยากจนที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศ มีรายได้เฉลี่ยสมาชิกในครัวเรือนต่อคนต่อเดือน 1,077 บาทหรือราว 36 บาทต่อวัน หรือ12,924 บาท ต่อปีเท่านั้น หากดูตัวเลขเช่นนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่มาก โดยกลุ่มที่ต้องเฝ้าจับตาคือ เด็กในวัยเรียนกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อทางการศึกษามีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้นในปี 2564-2565 และเด็กที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษาตามแต่ละช่วงวัย จำนวน 10,551 คน  
ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า หนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดสมุทรสาครในยุคโควิด-19 คือการพยายามรักษาเด็กเยาวชนทุกคนให้สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ และมีโอกาสที่เสมอภาคในการพัฒนาทุนมนุษย์ตามศักยภาพและความถนัดเป็นรายบุคคล  การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจึงเป็นโจทย์สำคัญของการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจที่จังหวัดจะลงทุนในอนาคตอันใกล้นี้ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง จำเป็นที่ภาคส่วนต่างๆต้องคำนึงถึงการเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน เพื่อนำเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วงที่ผ่านมากลับเข้ามาให้เร็วที่สุด ไม่ให้เกิดการเสียโอกาสในชีวิต การแก้ปัญหาต้องขอความร่วมมือยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง จำเป็นต้องคำนึงถึงการเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ

“การพาเด็กๆกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ในสถานการณ์อันไม่ปกติ จำเป็นต้องอาศัยมาตรการ โปรแกรมฟื้นฟูที่ครอบคลุมทุกมิติ  ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางจังหวัดสมุทรสาคร กสศ. องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย  มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) ม.หอการค้าไทย จะเข้ามาช่วยจังหวัด  นอกจากนี้ ส่วนที่สำคัญขาดไม่ได้คือครอบครัว และผู้ปกครองของนักเรียน บางครอบครัวอาจมีข้อจำกัดในชีวิต  ต้องช่วยกันทำให้การศึกษาการเรียนรู้ของเด็กในกลุ่มนี้ มีทางเลือกมากขึ้นในการที่เราทำงานเรื่องนี้เพื่อ ก้าวไปด้วยกันสู่สมุทรสาครโมเดล จังหวัดต้นแบบลดความเหลื่อมล้ำ ฟื้นฟูการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน” นายณรงค์ กล่าว

ดร.รังสรรค์ วิบูลย์อุปถัมภ์ เจ้าหน้าที่การศึกษาขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ที่มาและความสำคัญของโครงการวิจัยฯ ที่กำลังร่วมมือกันทำอยู่นี้เป็นทิศทางเดียวกับที่ทั่วโลกกำลังทำ หรือ Mission Recovering Education in 2021 แต่เราทำในบริบทของประเทศไทย โดยเน้นที่ตัวเด็กเป็นสำคัญ ผ่านเป้าหมาย 3 อย่างสำคัญดังนี้ 1.เด็กและเยาวชนวัยเรียนทุกคนได้เรียนหนังสือที่โรงเรียน และได้รับการสนับสนุนที่ปรับให้เหมาะสมเพื่อสอดคล้องกับความต้องการทางการเรียนรู้ การมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี รวมถึงความต้องการด้านอื่นๆ 2.เด็กและเยาวชนวัยเรียนทุกคนได้รับความช่วยเหลือในการเรียน เพื่อชดเชยการเรียนรู้ที่สูญเสียไปในช่วงการปิดโรงเรียน และ3.ครูทุกคนได้รับการเตรียมความพร้อมและการสนับสนุน เพื่อแก้ไขปัญหาความรู้ถดถอยของนักเรียน สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมต่างๆ มาผสมผสานในการสอน ซึ่งผลที่ได้รับจากความร่วมมือในการทำงานครั้งนี้ ยูนิเซฟจะนำมาขยายผลสู่พื้นที่อื่น รวมถึงแสดงสู่สายตานานาประเทศ ในฐานะโมเดลต้นแบบของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และฟื้นฟูการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน


กำลังโหลดความคิดเห็น