ความสัมพันธ์แบบแฮปปี้กันทั้งสองฝ่าย ระหว่างตลาดหุ้นวอลล์สตรีทของสหรัฐฯ กับพวกบริษัทเทคจีนรายบิ๊ก มาถึงจุดสิ้นสุดเสียแล้ว เมื่อ ตีตีชูสิง (Didi Chuxing) ยักษ์ใหญ่แอปบริการเรียกรถรับส่งสัญชาติจีน ประกาศจะถอนหุ้นของตนออกจากการจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก เนื่องจากการถอยทัพครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่า บริษัทเหล่านี้ทนแรงบีบคั้นทั้งจากทางการในปักกิ่งและพวกผู้คุมกฎในอเมริกาไม่ไหว และต้องตัดสินใจหวนกลับคืนสู่รากเดิมของตน
เวลาผ่านไปเพียงแค่ 5 เดือนเท่านั้น จากตอนที่ ตีตี เข้าจดทะเบียนในตลาดนิวยอร์กเมื่อเดือนมิถุนายน จนถึงการแถลงในวันศุกร์ (3 ธ.ค.) ที่ผ่านมาว่า บริษัทเตรียมจะนำหุ้นไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงแทน ระหว่างช่วงระยะดังกล่าวนี้ มูลค่าตามราคาตลาดของตีตี ลดฮวบลงไป 63%
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของ ตีตี มีขึ้นในขณะที่หน่วยงานกำกับตรวจสอบของจีนดำเนินการคุมเข้มอย่างคึกคักกว้างขวางตลอดระยะ 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้ไม่ถึงกับเข่นฆ่าเอาชีวิต แต่ก็เป็นการเด็ดปีกตัดหางพวกบริษัทอินเทอร์เน็ตรายสำคัญๆ ที่มีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อชีวิตของพวกผู้บริโภคแดนมังกร -- ในจำนวนนี้รวมไปถึงยักษ์ใหญ่ที่ทั่วโลกรู้จักชื่อเสียงกันดีอย่าง อาลีบาบา และ เทนเซนต์ ด้วย
ภายหลังการประกาศในวันศุกร์ (3) พวกบริษัทค้าปลีกทางออนไลน์ระดับเฮฟวีเวตของจีน ซึ่งมีหุ้นซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก เป็นต้นว่า อาลีบาบา, เจดีดอทคอม และพินตัวตัว ต่างมีราคาร่วงลงอย่างแรงกันถ้วนหน้า
ราคาหุ้นของ อาลีบาบา - ซึ่งการเข้าซื้อขายอย่างเอิกเกริกในวอลล์สตรีทเมื่อปี 2014 กลายเป็นการเริ่มคิกออฟขบวนพาเหรดของบรรดาบริษัทจีนให้เข้าจดทะเบียนในนิวยอร์ก -- ทรุดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปีทีเดียว ท่ามกลางข่าวลือที่แพร่สะพัดว่า หลังจาก ตีตี จากไปแล้ว อาลีบาบาน่าจะเป็นรายต่อไป
ถึงแม้ในทางเทคนิคแล้ว กระทั่ง ตีตีชูสิง โยกย้ายไปจดทะเบียนในตลาดฮ่องกง พวกผู้ถือหุ้นของบริษัทอยู่ในนิวยอร์กก็ยังคงมีสิทธิในหุ้นที่ถือครองเอาไว้ ไม่ใช่ว่าการลงทุนของพวกเขาจะถึงกับหายวับสาปสูญไป
แต่ เควิน คาร์เตอร์ ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอ ที่ อีเอ็มคิวคิว ชี้ว่า พวกนักลงทุนในตลาดสหรัฐฯ มีความหวาดกลัวกันมากเกี่ยวกับสิ่งหน่วยงานกำกับตรวจสอบและรัฐบาลจีนอาจจะทำต่อจากนี้ไป และความกลัวเช่นนี้มีผลกับอารมณ์ความรู้สึกต่อหุ้นเทคจีนโดยรวม
ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงจังหวะเดียวกันนั้นเอง หน่วยงานกำกับตรวจสอบตลาดหุ้นของสหรัฐฯ ได้ประกาศในวันพฤหัสบดี (2) ถึงการบังคับใช้กฎระเบียบที่เปิดทางให้พวกเขาถอนบริษัทต่างชาติออกจากการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของอเมริกาได้ ถ้าหากบริษัทเหล่านี้ไม่ส่งข้อมูลข่าวสารให้แก่ทางผู้สอบบัญชีตามที่เรียกร้องไป
ความเคลื่อนไหวเช่นนี้มีจุดมุ่งหมายหลักอยู่ที่พวกบริษัทจีน โดยมุ่งบังคับให้พวกเขาต้องเปิดเผยว่า พวกเขามีรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ควบคุมอยู่หรือไม่
อย่างที่ แกรี เกนสเลอร์ ประธานของคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ แถลงว่า เวลานี้ประเทศและดินแดนต่างๆ กว่า 50 แห่งทั่วโลก ต่างยอมรับการถูกตรวจสอบต่างๆ ตามที่กำหนดกันไปแล้ว มีเพียง 2 แห่งเท่านั้นที่ยังคงไม่ยอม “ได้แก่จีนและฮ่องกง”
“ข้อมูลที่อ่อนไหว”
โกลบอลไทมส์ หนังสือพิมพ์ที่มีความใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน วิพากษ์วิจารณ์กฎระเบียบใหม่นี้ของสหรัฐฯ เอาไว้ในบทความชิ้นหนึ่งตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ (3)
“ถ้าสหรัฐฯ กำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในเรื่องความมั่นคงแห่งชาติออกมาอย่างไม่มีความเสมอภาคเท่าเทียม เพื่อหวังผลในการแข่งขันระหว่างประเทศทั้งสอง โดยการเรียกร้องให้พวกบริษัทจีนที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นของอเมริกาต้องยื่นเอกสารเกี่ยวกับการสอบบัญชีเพื่อให้ตรวจสอบ ด้วยความประสงค์เพื่อที่จะได้สอดแนมสืบความลับเกี่ยวกับสถานการณ์ภายในของจีน รวมทั้งจะได้เก็บรวบรวมข้อมูลอ่อนไหวต่างๆ จำนวนมหาศาลซึ่งพวกบริษัทจีนครอบครองอยู่แล้ว จีนก็จะไม่ยอมรับสภาพเช่นนี้” นี่เป็นข้อความสำคัญในบทความที่ไม่ระบุชื่อผู้เขียนชิ้นนี้
พวกที่ถือครองและซื้อขายหุ้นซึ่งจดทะเบียนในตลาดทางนิวยอร์กนั้น จำนวนมากทีเดียวไม่ใช่เป็นพลเมืองที่เป็นเอกชน หากแต่เป็นกองทุนต่างๆ เป็นพวกนักลงทุนสถาบัน
เกรกอรี โวโลไคลน์ ประธานของมีสเชิร์ต ไฟแนนเชียล เซอร์วิเซส อธิบายว่า กองทุนเหล่านี้บางแห่งมีกฎระเบียบควบคุมว่าสามารถถือครองหุ้นเฉพาะที่ซื้อขายอยู่ในตลาดของสหรัฐฯ เท่านั้น ดังนั้น การที่บริษัทเทคจีนตั้งท่าจะถอยออกไปจากวอลล์สตรีท จึงกลายเป็นการสร้างแรงกดดันต่อราคาหุ้น
แล้วสำหรับพวกเฝ้าติดตามตลาดจำนวนมาก ตีตี ไม่น่าจะเป็นยักษ์ใหญ่เทคจีนรายสุดท้ายที่ถอนตัวออกจากตลาดนิวยอร์ก
โดยที่ โวโลไคลน์ สำทับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับ ตีตี ไม่ใช่เป็นกรณีพิเศษเลย “เพราะหลายๆ เดือนที่ผ่านมา เรายังพบเห็นว่าพรรคคอมมิวนิสต์กำลังบีบคั้นบริษัทต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ” ในเรื่องการเข้าตลาดหุ้นในอเมริกา
ไม่นานหลังจาก ตีตี เข้าจดทะเบียนในนิวยอร์ก ท่ามกลางความไม่พอใจของทางการจีน บริษัทจีนแห่งอื่นๆ ที่เข้าตลาดสหรัฐฯ อย่างเช่น ฟูล ทรัค อะไลแลนซ์ (Full Truck Alliance) ที่เป็นแพลตฟอร์มจองใช้รถบรรทุก และ Kanzhun แพลตฟอร์มสำหรับผู้มองหางาน ก็ถูกตรวจสอบโดยหน่วยงานความมั่นคงทางไซเบอร์ของจีนเช่นเดียวกัน
ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลจีนยังเพิ่มกฎเกณฑ์ในการควบคุมบริษัทต่างๆ ที่ให้บริการด้านการกวดวิชาการติวเข้มแก่ครอบครัวซึ่งต้องการให้บุตรหลานสามารถเข้าสถาบันการศึกษาดังๆ เรื่องนี้ก็สร้างความเสียหายให้บริษัทเช่นนี้หลายรายซึ่งจดทะเบียนซื้อขายหุ้นในนิวยอร์ก
ทั้งนี้ ตามตัวเลขที่รวบรวมเอาไว้เมื่อเดือนพฤษภาคมของหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ แห่งหนึ่ง มีบริษัทจีนที่จดทะเบียนซื้อขายหุ้นในสหรัฐฯ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 248 ราย ซึ่งมีมูลค่าตามราคาตลาดโดยรวมเท่ากับ 2.1 ล้านล้านดอลลาร์
แมตธิว เคนเนดี เจ้าหน้าที่ยุทธศาสตร์ผู้หนึ่งของเรอนาซองส์ แคปิตอล ชี้ว่า หลังจากที่บริษัทจีนแสดงท่าทีกระตือรือร้นในการเข้าตลาดสหรัฐฯ เมื่อช่วงเริ่มต้นปีนี้ ทว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา พวกเขาก็พากันยุติความสนใจในเรื่องนี้ สืบเนื่องจากเจออุปสรรคด้านการกำกับตรวจสอบและด้านนโยบายจากทั้งสองประเทศ
สัปดาห์ที่แล้ว สปาร์ก เอดูเคชั่น บริษัทใหญ่ของจีนที่ให้บริการสอนเป็นชั้นเรียนเล็กๆ ทางออนไลน์ ประกาศยกเลิกแผนการทำไอพีโอในสหรัฐฯ ที่เตรียมการเอาไว้
โวโลไคลน์ บอกว่า เมื่อดูจากสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ คงสามารถพูดได้ว่าต่อไปจะไม่มีบริษัทจีนใหม่ๆ มาทำไอพีโอในสหรัฐฯ กันอีกแล้ว ส่วนพวกที่อยู่ในกระบวนการเข้าตลาดก็จะทยอยถอนตัวไปทีละรายสองราย ทางด้าน เรอนาซองส์ แคปิตอลเผยว่า มีบริษัทราว 35 แห่งทีเดียวซึ่งอยู่ในกระบวนการดังที่ว่านี้
ในการถอนตัวออกจากตลาดสหรัฐฯ เท่ากับว่าบริษัทจีนทั้งหลายละทิ้งฐานนักลงทุนขนาดมหึมาชนิดไม่มีที่ไหนในโลกเทียบเทียมได้ - นั่นคือ มีสินทรัพย์ที่อยู่ในการบริหารจัดการรวมเป็นมูลค่าสูงถึง 52.5 ล้านล้านดอลลาร์ เปรียบเทียบกับในจีนที่มีเพียง 7.1 ล้านล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ ตามผลการศึกษาชิ้นหนึ่งเมื่อปีที่แล้วของ แมคคินซีย์แอนด์คอมพานี บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการชื่อดัง
แต่ในอีกด้านหนึ่ง คาร์เตอร์ตั้งข้อสังเกตว่า แรงกดดันทางการเมืองต่อพวกบริษัทจีนเช่นนี้ ก่อให้เกิดสถานการณ์ประหลาดๆ ขึ้นมา ซึ่งทำให้พวกดาวจรัสแสงของโลกเทคโนโลยีจีน ต้องพากันตีจากตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ทว่าไม่ใช่เนื่องจากรายงานผลประกอบการของพวกเขาย่ำแย่
“บริษัทพวกนี้ยังคงทำกำไรกันอยู่ และกำไรเหล่านี้ยังกำลังขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย” เขาบอก
“อัตราเติบโตของรายรับสำหรับปีนี้อยู่ที่กว่า 30% นี่ไม่ใช่ว่าทุกๆ บริษัททำได้นะ แต่ค่อนข้างจะเป็นยอดโดยรวม มันไม่สำคัญเลยว่าหุ้นเหล่านี้อยู่กันที่ไหน มันไม่สำคัญเลยว่าหุ้นเหล่านี้ซื้อขายกันที่ไหน ผลประกอบการก็ยังคงออกมาอย่างนี้แหละ” เขาพูดด้วยน้ำเสียงที่ฟังออกว่าเสียดาย
(เก็บความจากเรื่อง Didi departure from NYSE marks end of Wall Street romance with Chinese big tech ของสำนักข่าวเอเอฟพี)