วันนี้ (19 พ.ย.) เวลา 10.00 น. ณ โรงแรม เวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ น.ส.อรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อม นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิด VIA Road Safety Education Programme จัดโดยมูลนิธิป้องกันอุบัติภัยแห่งเอเชีย (เอไอพี) โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกลุ่มบริษัทโททาลเอนเนอร์ยีส์ และบริษัท สยาม มิชลิน จำกัด นอกจากนี้ มีตัวแทนจากสถาบันการศึกษา เข้าร่วม
น.ส.อรพินทร์ กล่าวว่า น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยของผู้เรียนมาก โดยประกาศนโยบายความปลอดภัยเป็นวาระเร่งด่วน (Quick Win) วาระที่ 1 เรื่องความปลอดภัยของผู้เรียน เมื่อวันที่ 29 มี.ค.64 ที่ผ่านมา โดยให้จัดให้มีรูปแบบ วิธีการ หรือกระบวนการในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ มีความสุข และได้รับการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงการสร้างทักษะให้ผู้เรียนมีความสามารถดูแลตนเองจากภัยอันตรายต่างๆ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางสังคม
น.ส.อรพินทร์ กล่าวอีกว่า และเมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้ประกาศจัดตั้งศูนย์ความปลอดภัย กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ ส่งเสริมความปลอดภัยให้กับนักเรียน นักศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษาพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศให้เป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านความปลอดภัยของกระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาระบบการบริหารจัดการความปลอดภัย ส่งเสริม สนับสนุนการปลูกฝังความรู้ ทักษะ และเจตคติในการป้องกันดูแลความปลอดภัยให้กับนักเรียน นักศึกษา พัฒนาระบบให้คำปรึกษา รับเรื่อง ร้องเรียน ร้องทุกข์ และแก้ไขปัญหา นักเรียน นักศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา
“สำหรับความปลอดภัยของนักเรียนนั้นกระทรวงศึกษาธิการได้วางมาตรการความปลอดภัยในสถานศึกษา โดยจัดตั้ง safety center ศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียน เพื่อดูแลความปลอดภัยโดยมีคณะกรรมการที่สามารถตรวจสอบการดำเนินงานแต่ละระดับได้ โดยโรงเรียนประเมินความเสี่ยงตามบริบทของพื้นที่และนำข้อมูลไปประเมินเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา สำหรับการส่งเสริมความปลอดภัยทางถนนสำหรับนักเรียนนั้น กระทรวงฯ ได้ส่งเสริมให้แต่ละโรงเรียนจัดการเรียนการสอนเพื่อเสริมทักษะการเอาตัวรอด เช่น ทักษะการว่ายน้ำ ความปลอดภัยด้านการจราจร ดังนั้นหลักสูตรความปลอดภัยทางถนนนี้จะมีส่วนส่งเสริมนโยบายของกระทรวงฯ ได้เป็นอย่างดี" น.ส.อรพินทร์ กล่าว
ด้าน นายปาสกาล ลารอซ ประธานของกลุ่มบริษัทโททาลเอนเนอร์ยี่ส์ทั้งหมดในประเทศไทย และเป็นผู้จัดการใหญ่ของโททาลเอนเนอร์ยี่ส์ อีพี ไทยแลนด์ กล่าวว่า แรงผลักดันสำคัญที่ทำให้โททาลเอนเนอร์ยี่ส์จับมือกับมิชลินนำ VIA Road Safety Education Programme มาสู่ประเทศไทยนั้น คือความมั่นใจในหลักสูตร VIA ที่ผสมผสานหลายรูปแบบ มีความยืดหยุ่นในการจัดการเรียนการสอน มุ่งสร้างทักษะให้เด็กๆ มีทักษะในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย รู้จักความเสี่ยง สามารถประเมินความเสี่ยงและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงขณะเดินทางได้
นายปาสกาล กล่าวต่อว่า จากข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระบุชัดว่าสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ 90 เปอร์เซ็นต์ มาจากผู้ขับขี่ขาดทักษะการประเมินความเสี่ยง และขอขอบคุณผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร และผู้บริหารโรงเรียนทุกท่าน ที่เห็นความสำคัญและจะขับเคลื่อนการเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนนในสถานศึกษาเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับเยาวชนของชาติต่อไป
ขณะที่ น.ส.พรวดี ปิยะคุณ ผู้อำนวยการฝ่ายความสัมพันธ์ภาครัฐ บริษัท สยามมิชลิน จำกัด เผยว่า มิชลินให้ความสำคัญและจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์ เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนหลายรูปแบบมากว่า 28 ปีแล้ว โดยร่วมมือกับพันธมิตรหลายภาคส่วน ทั้งรัฐและเอกชน จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนน และสร้างจิตสำนึก เกี่ยวกับการใช้รถ ใช้ถนน อย่างปลอดภัยในหมู่ผู้สัญจร
"เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สามารถนำโครงการ VIA Road Safety Education Programme มาสู่ประเทศไทย และผลักดันให้มีการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ"
น.ส.พรวดี เผยอีกว่า การร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญของมิชลินและโททาลเอนเนอร์ยี่ส์ที่
ได้ดำเนินโครงการนี้ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชีย และมีมูลนิธิป้องกันอุบัติภัยแห่งเอเชียเป็นผู้ดำเนินโครงการ โดยได้ดำเนินการสำเร็จเป็นอย่างดีในโรงเรียนต้นแบบ 5 แห่งใน อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ และกำลังจะขยายผลความสำเร็จนี้ต่อเนื่องไปยังอีก 45 โรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเป็นโรงเรียนในสังกัดกระทวงศึกษาธิการ 36 แห่ง และโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 9 แห่ง
น.ส.พรวดี เผยต่อว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนในหลายประเทศทั่วโลกปีละประมาณ 1.3 ล้านคน ประเทศไทยเองมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก และอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์สูงเป็นอันดับหนึ่งของเอเชีย แต่ละปีมีเด็กๆ และเยาวชนเสียชีวิตบนท้องถนนประมาณ 3,526 คนต่อปี บาดเจ็บอีกกว่า 72,000 คนต่อปี คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจหลายแสนล้านบาท