รองผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่ติดตามการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เน้นย้ำทำตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ตรวจATK ก่อนเข้าเรียน
วันนี้ (15 พ.ย.) เวลา 07.30 น. นายเกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ณ โรงเรียนมัธยมปุรณาวาส เขตทวีวัฒนา โดยมี นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา นายดิชา คงศรี ผู้อำนวยการเขตทวีวัฒนา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการศึกษา สำนักงานเขตทวีวัฒนา คณะครู บุคลากรทางการศึกษา โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ศูนย์บริการสาธารณสุข 67 ทวีวัฒนา และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีความห่วงใยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 โดยเฉพาะการบริหารจัดการด้านการศึกษา ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้นักเรียน ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ต้องปรับการเรียนการสอนเป็นแบบ Online ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีจำนวนลดลง อีกทั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้รับวัคซีนเกินร้อยละ 96 ส่วนนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครได้รับวัคซีนเกินร้อยละ 80 กรุงเทพมหานครจึงได้เปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ในระดับชั้นมัธยมศึกษา 1-6 รวมทั้งสิ้น 109 โรงเรียน แบบ On-site ในวันที่ 15 พ.ย.64 นี้ พร้อมทั้งจัดให้มีการตรวจ Antigen Test Kit (ATK) สำหรับนักเรียนที่จะเข้าชั้นเรียน นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจความเรียบร้อยของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ดังนี้ พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนางสุธาทิพย์ สนเอี่ยม รองปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่โรงเรียนวัดไทร (ถาวรพรหมานุกูล) เขตจอมทอง นายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่โรงเรียนวัดสะแกงาม เขตบางขุนเทียน นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่โรงเรียนวัดเกาะสุวรรณาราม เขตสายไหม นายวัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่โรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนา เขตคลองเตย นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่โรงเรียนกิ่งเพชร เขตราชเทวี และนายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่โรงเรียนมัธยมบ้านบางกะปิ เขตบางกะปิ
สำหรับโรงเรียนมัธยมปุรณาวาส เขตทวีวัฒนา เปิดสอนระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยเปิดการเรียนการสอนแบบ Online ในภาคเรียนที่ 2/64 ทุกระดับชั้น เมื่อวันที่ 1 พ.ย.64 ที่ผ่านมา พร้อมกับโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 437 โรงเรียน ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 ในสถานศึกษา และมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล Universal Prevention ที่กำหนด อาทิ ทำความสะอาดบริเวณโรงเรียนทั้งหมดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่และน้ำ จุดบริการเจลแอลกอฮอล์ และจัดหาอุปกรณ์ในการป้องกันการแพร่ระบาด จัดตั้งจุดคัดกรองบริเวณทางเข้าสถานศึกษา ควบคุมทางเข้าและทางออก โดยลงทะเบียนก่อนเข้า-ออก การบันทึกข้อมูลรายงาน จัดพื้นที่พักคอยสำหรับผู้ปกครองบริเวณหน้าโรงเรียน เป็นต้น
ในส่วนระดับชั้นมัธยมศึกษา ได้จัดการเรียนการสอนแบบ On-site ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามแนวทางที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำหนด และจัดการเรียนการสอนภายใต้มาตรการ Sandbox : Safety Zone in School ทั้ง 4 ด้าน คือ มาตรการด้านกายภาพ มาตรการด้านการมีส่วนร่วม มาตรการด้านการประเมินความพร้อมสู่การปฏิบัติ และมาตรการด้านการดำเนินการของโรงเรียนหรือสถานศึกษา โดยจำกัดนักเรียนในห้องเรียนไม่เกิน 25 คน ใช้การเรียนการสอนแบบสลับวันเรียน หรือจัดห้องเรียนใหม่ตามสภาพพื้นที่ของแต่ละโรงเรียน ร่วมกับการเรียนการสอนแบบ Online และปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเข้มข้น ได้แก่ 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) และ 7 มาตรการเข้ม สำหรับสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดอย่างเคร่งครัด
สำหรับ 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) ประกอบด้วย 1.Distancing เว้นระยะห่าง 2.Mask wearing สวมหน้ากาก 3.Hand washing ล้างมือ 4.Testing คัดกรองวัดไข้ 5.Reducing ลดการแออัด และ 6.Cleaning ทำความสะอาด ส่วน 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) ประกอบด้วย 1.Self - care ดูแลตนเอง 2.Spoon ใช้ช้อนส่วนตัว 3.Eating กินอาหารปรุงสุกใหม่ 4.Track ลงทะเบียนเข้าออกโรงเรียน 5.Check สำรวจตรวจสอบ และ 6.Quarantine กักกันตัวเอง ด้าน 7 มาตรการเข้ม สำหรับสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ประกอบด้วย 1.สถานศึกษาประเมินความพร้อมเปิดเรียนผ่าน TSC+ และรายงานการติดตามการประเมินผลผ่าน MOECOVID 2.ทำกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบ Small Bubble จัดนักเรียนเว้นระยะห่างในห้องเรียน หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมข้ามกลุ่มกัน 3.จัดระบบการให้บริการอาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหารและหลักโภชนาการ 4.จัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ การระบายอากาศภายในอาคาร การทำความสะอาด คุณภาพน้ำอุปโภคบริโภค และการจัดการขยะ 5.จัดให้มี School Isolation แผนเผชิญเหตุ และมีข้อซักซ้อมอย่างเคร่งครัด 6.ควบคุมดูแลการเดินทางเข้าและออกจากสถานศึกษา (Seal Route) ทั้งกรณีรถรับ - ส่ง นักเรียน รถส่วนบุคคล และพาหนะโดยสารสาธารณะ และ 7.จัดให้มี School Pass สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษา
"วันนี้คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนวันเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งโรงเรียนมัธยมปุรณาวาสปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด มีจุดคัดกรองบริเวณประตูทางเข้าโรงเรียน ตรวจวัดอุณหภูมิ จุดแอลกอฮอล์ล้างมือ พร้อมทั้งมีการตรวจ ATK นักเรียนในช่วงที่ผ่านมา จำนวน 600 คน ผลตรวจไม่พบผู้ติดเชื้อ หลังจากนั้นจะมีการสุ่มตรวจ ATK ร้อยละ 10- 20 จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด สำหรับการเรียนการสอนทางโรงเรียนได้แบ่งนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา 1-6 ออกเป็น 2 กลุ่มๆละประมาณ 600 คน จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด 1,365 คน โดยสลับกันมาเรียนตามตาราง กลุ่ม A จะเรียนแบบ On-site เรียนที่โรงเรียน กลุ่ม B เรียนแบบ On-hand เรียนที่บ้าน โดยหนังสือเรียน และแบบฝึกหัด รวมทั้งงดกิจกรรมการรวมกลุ่มของนักเรียน" รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว