วันนี้ (30 ต.ค.) จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งได้รับนโยบายจาก น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ดำเนินการเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยการเรียนแบบ On Site ในเทอมนี้ มีโรงเรียนแสดงความจำนงเข้ามาประมาณหนึ่งหมื่นโรงเรียน ซึ่ง สพฐ.มีข้อกำหนดว่า การพิจารณาเปิดเรียน On Site ใน 1 จังหวัด ไม่จำเป็นต้องเปิดพร้อมกันในทุกโรงเรียน โรงเรียนไหนพร้อมก่อน มีมาตรการควบคุมโรคที่ดี ก็สามารถเปิดเรียนก่อนได้นั้น
นายธวเดช ภาจิตรภิรมย์ หัวหน้าพรรคแนวทางใหม่ กล่าวว่า หากพิจารณาแนวทางดังกล่าว แม้นโยบายของกระทรวงบอกว่า จะพยายามเปิดเรียนแบบ On Site ให้ได้มากที่สุด แต่สิ่งที่กระทรวงศึกษาฯทำมีเพียงการออกแนวปฏิบัติเท่านั้น ไม่ได้สนับสนุนศักยภาพลงไปด้วย โดยให้โรงเรียนไปพิจารณากันเองจากองค์ประกอบ 6 ประการ คือ 1.ประเมินตนเองในระบบ Thai Dtop Covid Plus (TSC+) หากผ่านระดับสีเขียว จึงสามารถยื่นขออนุญาตเปิดเรียนแบบ On Site ได้ 2.ครู และบุคลากรทางการศึกษาต้องได้รับวัคซีน 85% ขึ้นไป 3. นักเรียนและผู้ปกครองต้องได้รับการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด 4.สถานศึกษานำผลการประเมินตนเองเสนอคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานให้ความเห็นชอบ และเสนอต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อพิจารณาอนุมัติให้เปิดเรียน 5 หากคณะกรรมโรคติดต่อจังหวัดอนุมัติให้เปิดเรียน สถานศึกษาต้องปฏิบัติตามมาตรการหลัก คือ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1-2 เมตร สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่อยู่ในโรงเรียน ล้างมือบ่อยๆ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ลดการแออัด ลดการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ไม่ให้เข้าพื้นที่เสี่ยง และ ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสร่วม นอกจากนี้ยังมี มาตรการเสริม คือ Self-care ดูแลเอาใจใส่ ปฏิบัติ มีวินัย รับผิดชอบตนเองปฏิบัติตนตามมาตรการอย่างเคร่งครัด Track ลงทะเบียนเข้า ออกโรงเรียน Check สำรวจตรวจสอบบุคคล นักเรียน และกลุ่มเสี่ยง มาจากพื้นที่เสี่ยงเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง Quarantine กักตัวเอง 14 วัน เมื่อเข้าสัมผัสหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาด และต้องผ่านการประเมิน ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมให้เป็นตามเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ การระบายอากาศภายในอาคาร การทำความสะอาด จัด School Isolation แผนเผชิญเหตุและมีการซักซ้อม ควบคุมดูแลการเดินทางจากบ้านไปโรงเรียน และจัดให้มี School Pass สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษา อย่างเคร่งครัด และ 6.สถานศึกษารายงานผลการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น
“การเรียนแบบ On Site หรือเรียนในโรงเรียน มีความสำคัญมาก เพื่อไม่ให้พัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กๆถดถอยไปกว่านี้ การหยุดเรียนในโรงเรียนเป็นเวลานานไม่ส่งผลดีอย่างยิ่ง ซึ่งประเทศไทยเผชิญสถานการณ์นี้มาแล้วกว่า 2 ปี ผมคิดว่านานพอที่จะเตรียมความพร้อมสนับสนุนความช่วยเหลือโรงเรียนต่างๆให้กลับมาเปิดเรียนได้ แต่เท่าที่เห็นมีแต่คำสั่งหรือแนวทางให้โรงเรียนไปทำกันเอง กลายเป็นว่า จังหวัดที่สถานการณ์ดีขึ้นมาก ก็จะยังไม่สามารถเปิดเรียนแบบ On Site ได้ทั้งหมด เพราะต้องยอมรับว่ามาตรการความปลอดภัยยาวยืดที่ผมยกมา หลายโรงเรียนไม่มีความพร้อมที่ทำได้ เพราะแต่ละโรงเรียนมีต้นทุน มีงบประมาณ มีบุคลากรไม่เท่ากัน จึงเท่ากับว่าจะมีแต่โรงเรียนใหญ่ๆที่เปิดเรียนได้ แต่โรงเรียนเล็กๆยังต้องดิ้นรนกันเอาเอง หรืออาจยังต้องอยู่กับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ที่ส่วนใหญ่ยอมรับว่าไม่สามารถทดแทนโรงเรียนได้และสร้างปัญหามากให้ทั้งครูและผู้ปกครอง"นายธวเดช กล่าว
นายธวเดช กล่าวต่อว่า ถ้าการที่จังหวัดหนึ่งค่อนข้างปลอดภัยขึ้นแล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเรียนได้พร้อมกัน ตนถือว่าเป็นการบริหารแบบเหลื่อมล้ำและปัดความรับผิดชอบให้โรงเรียนและครู ขอย้ำว่ามาตรการความปลอดภัยทางสาธารณสุข จะต้องบริหารแบบเชิงรุกไม่ใช่ตั้งรับ เพราะตั้งรับมา 2 ปีแล้ว จะต้องถือเป็นภาระรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องสนับสนุนงบประมาณ บุคลากร เครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าเจลล้างมือ ATK หรือเข้าไปช่วยจัดการสภาพแวดล้อมใหม่ให้โรงเรียนใช้มาตรการรักษาระยะห่างได้ 2 ปีนานพอแล้วในการระดมสรรพกำลังและวางแผนเพื่อเปิดการเรียนการสอนให้ได้มากที่สุดอย่างเท่าเทียม ในสถานการณ์แบบเดียวกัน หากทำไม่ได้ก็ควรเป็นเรื่องที่เจ้ากระทรวงและหัวหน้ารัฐบาลจะต้องพิจารณาตนเองเพราะถือว่าเป็นบ่อนทำลายโอกาสในอนาคตของเยาวชนจำนวนมาก