วันนี้ (19 ต.ค.) ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผช.รมต.ประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.) หมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ U2T ที่ มรภ.หมู่บ้านจอมบึง รับผิดชอบใน 35 ตำบล 10 อำเภอของ จ.ราชบุรี มีการจ้างงานทั้งสิ้น 700 อัตรา ปรากฎว่ามีการดำเนินกิจกรรมใน 35 ตำบล รวมทั้งสิ้น 179 กิจกรรม ตั้งแต่ การพัฒนาสัมมาชีพและสร้างอาชีพใหม่ การยกระดับสินค้าโอท็อป(OTOP) การสร้างพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่ การยกระดับการท่องเที่ยว การนำองค์ความรู้ไปช่วยบริการชุมชนโดยเฉพาะการดูแลสุขภาพ การนำเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ไปช่วยชุมชนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด -19 การส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม การดำเนินการเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน การเพิ่มรายได้หมุนเวียนให้แก่ชุมชน เป็นต้น ทั้งนี้ จากการที่ตนได้เห็นผลงานบางส่วนของโครงการ U2T พบว่าส่วนใหญ่เป็นผลงานที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
ผช.รมต.อว.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ได้เยี่ยมชมการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนด้านโควิด -19 พร้อมมอบกล่อง อว.พารอด ให้กับมหาวิทยาลัย ณ ศูนย์พักคอยของ มรภ.หมู่บ้านจอมบึงและเดินทางไปแหล่งเรียนรู้บ้านมีดบิน ต.จอมบึง ซึ่งมีการพัฒนาแหล่งเรียนรู้อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นและส่งเสริมอาชีพการตีมีดเหล็กลายโบราณ เชื่องโยงเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของ จ.ราชบุรี และ เยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้บ้านช่างสกุลบายศรีของตำบลเจ็ดเสมียน อ.โพธาราม ซึ่งเป็นกระบวนการนำศาสตร์ 4DNA ซึ่งก็คือศาสตร์ที่ช่วยถอดจุดเด่นของจังหวัดตั้งแต่ คำขวัญ แหล่งท่องเที่ยว เศรษฐกิจสังคม อาณาเขต ประเพณีวัฒนธรรม และจุดเด่นอื่นๆ มาใช้ออกแบบเป็นสัญลักษณ์ โลโก้ หรือลวดลายสินค้าพิเศษเพื่อไปใช้กับสินค้าผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ หรือเรียกว่าเป็นการต่อยอดพัฒนาสินค้า และศิลปวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชนให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจนได้สัญลักษณ์ที่สื่อความหมายและเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวตลาดนี้มีปราชญ์สร้างงานสร้างรายให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน.
“U2T ได้ทำหน้าที่เป็นหน่วยบูรณาการและประสานการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายท้องถิ่น เพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมครอบคลุมในประเด็นต่างๆ ตามปัญหาและความต้องการของชุมชน รวมถึงการพัฒนาทักษะในการเสริมสร้างอาชีพใหม่ในชุมชน และให้มีการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างน่าพอใจ” ดร.ดนุช กล่าว