xs
xsm
sm
md
lg

สช.ระดมสมองจัดทำข้อเสนอถึงรัฐ สร้างความเป็นธรรมให้ ‘กลุ่มเปราะบาง’ หนุนเข้าถึงบริการสุขภาพในวิกฤตโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดฉากนัดแรก! งานสมัชชาสุขภาพฯ ออนไลน์ พิจารณาระเบียบวาระ “การคุ้มครองการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มประชากรเฉพาะในภาวะวิกฤตอย่างเป็นธรรม” ภาคีเครือข่ายร่วมจัดทำข้อเสนอต่อรัฐ สร้างหลักประกันสุขภาพแก่คนไร้สิทธิ เพิ่มการดูแลครอบคลุมกลุ่มเปราะบาง-ผู้สูงอายุ-แรงงานข้ามชาติ-กลุ่มความหลากหลายทางเพศ

วันนี้ (6 ต.ค.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติออนไลน์ เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2564 เพื่อพิจารณาระเบียบวาระ รอบที่ 1 เรื่อง “การคุ้มครองการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มประชากรเฉพาะในภาวะวิกฤตอย่างเป็นธรรม” ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ระเบียบวาระของการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ประจำปี 2564 และจะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ที่จะขึ้นในวันที่ 15-16 ธ.ค. นี้

สำหรับระเบียบวาระดังกล่าว มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนของสังคมมีการจัดการร่วมกัน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าประชาชนทุกคนจะได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ มาตรฐาน เท่าเทียม ทั่วถึง อย่างเป็นธรรม ตามหลักการสิทธิมนุษยชน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UC for all) ไม่ประสบภาวะล้มละลายจากความเจ็บป่วย ตลอดจนได้รับการเยียวยาตามความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อความมั่นคงทางด้านสุขภาพของทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นกลุ่มประชากรเฉพาะ ซึ่งอยู่ในภาวะเปราะบางที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการของภาครัฐหรือขาดโอกาสที่จะเข้าถึงบริการเช่นเดียวกับคนปกติ ประกอบด้วย 1. กลุ่มคนที่จำเป็นต้องพึ่งพิงการช่วยเหลือจากผู้อื่น เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ คนไร้บ้าน ผู้ป่วยติดเตียง 2. กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงจากสภาพการทำงาน หรือสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด ถูกตีตราหรือถูกเลือกปฏิบัติจากสังคม เช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด ผู้ต้องขัง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ 3. กลุ่มแรงงานข้ามชาติและผู้ที่มีปัญหาสถานะและสิทธิที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย

ในส่วนของมติที่เป็นข้อเสนอตามระเบียบวาระนี้ อาทิ การให้มีหลักประกันสุขภาพสำหรับผู้ที่มีปัญหาสถานะและสิทธิให้สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นได้โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติแม้อยู่ในภาวะวิฤต รวมทั้งสามารถเข้าถึงการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น วัคซีน ยา อุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาด การพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่ทำให้เกิดการเข้าถึงของกลุ่มประชากรเฉพาะ เช่น การมีระบบบริการเชิงรุก (Home healthcare) ให้ครอบคลุมทุกมิติสุขภาพ

นอกจากนี้ ยังเสนอให้พัฒนารูปแบบและระบบส่งเสริมสุขภาพ การป้องกัน ช่วยเหลือ ดูแล และส่งต่อที่เป็นการดำเนินการโดยชุมชน (Community-led health services) ให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการสุขภาพของประเทศ เช่น Home/Community Isolation ตลอดจนเสริมสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพ เช่น สนับสนุนให้มี พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเพื่อลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ พัฒนาระบบและกลไกรับเรื่องร้องเรียน ในกรณีการเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอต่างๆ จะต้องได้รับฉันทมติในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ก่อนจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ เพื่อมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อมติ

นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ประธานการพิจารณาระเบียบวาระฯ เปิดเผยว่า จากการพิจารณาระเบียบวาระรอบแรกในครั้งนี้ ได้มีการรับฟังความเห็นที่หลากหลาย และได้แง่มุมที่ทำให้เกิดความครอบคลุมขึ้นในบางจุด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประชากรเฉพาะที่ขยายมุมมองเพิ่มเติมไปถึงกลุ่มเด็ก รวมไปถึงหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งพบว่ามีประเด็นปัญหาช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา หรือกลุ่มเพศสภาพต่างๆ ที่ออกมาสะท้อนถึงการถูกกีดกัน

นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มเติมเนื้อหาให้ครอบคลุมในอีกหลายประเด็น ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ การส่งเสริมสุขภาพ รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่จะต้องตามให้ทันในยุคปัจจุบัน หรือในส่วนประเด็นภาวะวิกฤตที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องของโรคระบาดเพียงอย่างเดียว ซึ่งพบว่ามีหลายภาคีที่ให้ความสนใจและเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อเข้ามาให้ความร่วมมือในการดำเนินการเรื่องนี้

“ในภาพรวมปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มประชากรเฉพาะเดิมนั้นมีอยู่แล้ว หากแต่สถานการณ์โควิด-19 ได้ทำให้ปรากฏเด่นชัดมากยิ่งขึ้น เพราะคนธรรมดาเองยังเข้าถึงบริการยังลำบาก คนที่ไม่มีสิทธิมีเสียงจึงยิ่งถูกมองข้าม ดังนั้นการเกิดมตินี้จึงจะเข้ามาเป็นตัวแทนเพื่อให้กลุ่มประชากรเฉพาะนั้นมีเสียงมากยิ่งขึ้น และให้การควบคุมโรค รวมถึงการดูแลประชาชนได้มีความเสมอภาค เท่าเทียมกัน” นพ.ประสิทธิ์ชัย กล่าว

อนึ่ง ระเบียบวาระที่ 2.2 การคุ้มครองการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มประชากรเฉพาะในภาวะวิกฤตอย่างเป็นธรรม ได้จัดให้มีการพิจารณาระเบียบวาระ รอบที่ 1 ในวันที่ 5 ต.ค. 2564 และเปิดรับความเห็นจนถึงวันที่ 20 ต.ค. 2564 ก่อนจะมีการพิจารณาระเบียบวาระ รอบที่ 2 ในวันที่ 11 พ.ย. 2564 จากนั้นจึงจะเข้าสู่การให้ฉันทมติต่อระเบียบวาระในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 วันที่ 15 ธ.ค. 2564




กำลังโหลดความคิดเห็น