กสม. แนะรัฐดูแลกลุ่มเปราะบางช่วงโควิดแบบครบวงจร ทั้งจัดหาวัคซีน-ตั้งศูนย์ปฏิบัติการในชุมชน จี้แก้ระเบียบจ่ายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ให้เป็นแบบถ้วนหน้า สำรวจเด็กต้องออกจากระบบการศึกษาเพราะการระบาด
วันนี้ (23 ก.ย.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกันแถลงกรณี กสม.มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดย น.ส.ศยามล กล่าวว่า กสม.มีความเป็นห่วง เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รวบรวมข้อเท็จจริงและวิเคราะห์กรณีผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค และกรณีรับไว้เป็นคำร้องเมื่อเดือน ก.ค. 64 และได้พิจารณาผลกระทบแยกเป็นประเด็น สิทธิในสุขภาพและการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของรัฐ และประเด็นคุณภาพชีวิตและการเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของรัฐ โดยได้มีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรี 1. รัฐต้องเร่งจัดหาวัคซีนสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยคำนึงถึงคุณภาพ ประสิทธิภาพ และควรชี้แจงข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบถึงแผนการบริหารจัดการวัคซีนที่เป็นธรรม
2. จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจ ในระดับพื้นที่ชุมชนหรือท้องถิ่น เพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างทันท่วงทีในลักษณะครบวงจร รวมถึงปรับปรุงระบบฐานข้อมูลภาครัฐเกี่ยวกับผู้ด้อยโอกาสให้มีความถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน 3. ทบทวนแก้ไขระเบียบกรมกิจการเด็กและเยาวชนว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด พ.ศ. 2562 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้า ครอบคลุมเด็กแรกเกิดทุกคน เพื่อเป็นหลักประกันด้านสวัสดิการสำหรับเด็กและช่วยบรรเทาผลกระทบแก่ครอบครัวของเด็กจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
4. มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมในการเปิดสถานศึกษา สำรวจนักเรียนที่มีความเสี่ยงจะออกจากระบบการศึกษาเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค พร้อมให้การช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน 5. บูรณาการมาตรการป้องกันและควบคุมโรคกับมาตรการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมให้เชื่อมโยงและเสริมกัน เช่น การจ้างงานระยะสั้นแก่บุคคลในพื้นที่ที่มีการระบาดเพื่อสนับสนุนภารกิจควบคุมโรค การสนับสนุนผู้ประกอบการอาหารในพื้นที่สำหรับการดูแลประชาชนที่ต้องกักตัวในชุมชน 6. จัดให้มีกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฐานราก ให้แก่ชุมชนและกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบ 7. ทบทวนการบังคับใช้กฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อการบริการด้านสาธารณสุข หรือกิจกรรมที่เอื้อต่อการสร้างรายได้และการช่วยเหลือกันของสมาชิกในชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมฐานราก เช่น พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 กฎหมายและนโยบายคนเข้าเมือง หรือการไม่มีสถานะทางกฎหมายของแรงงานข้ามชาติ นโยบายไล่รื้อชุมชนจากที่ดินสาธารณะ