ปธ.กสม. ร่อนหนังสือหนุนรัฐสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและบังคับสูญหายตามหลักการสากล เสนอมาตรการคุ้มครองสิทธิผู้ถูกควบคุมตัว-วางกลไกตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้กระทำผิด
วันนี้ (8 ก.ย.) นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ สม 0006/74 ลงวันที่ 7 กันยายน 2564 แจ้งข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา ไปยังประธานรัฐสภา โดย กสม.ได้ประมวลข้อคิดเห็นประกอบกับหลักสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
โดย กสม. มีข้อเสนอว่า หลักการสำคัญของกฎหมาย ควรกำหนดให้มีบทบัญญัติที่แสดงสิทธิเด็ดขาดอันไม่อาจถูกเพิกถอนได้ว่า บุคคลจะไม่ถูกกระทำทรมานหรือถูกกระทำให้สูญหายไม่ว่าสถานการณ์พิเศษใดๆ และให้รวมถึงการกระทำหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กำหนดให้มีมาตรการการป้องกันการทรมานหรือการถูกกระทำให้บุคคลสูญหาย นอกจากนี้ควรกำหนดให้มีการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัว เช่น สิทธิในการติดต่อกับญาติ สิทธิการมีทนายเข้าร่วมสอบปากคำหรือซักถาม รวมทั้งกำหนดให้มีการชดเชยเยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจแก่ผู้ถูกกระทำทรมานหรือถูกทำให้สูญหายอย่างเต็มที่
การดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ควรกำหนดให้มีการบันทึกภาพและเสียงที่มีประสิทธิภาพ สามารถใช้งานได้ตลอดเวลาในการจับกุม การควบคุมตัว การสอบสวน สถานที่กักขัง หรือสถานที่ควบคุมตัว และมีระบบจัดเก็บข้อมูลที่เพียงพอต่อการตรวจสอบย้อนหลังเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย นอกจากนี้ ควรกำหนดให้การจับ ขัง หรือค้นโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องได้รับการรับรองจากพนักงานอัยการ และควรกำหนดให้พนักงานอัยการเข้าไปมีส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งแต่ขั้นตอนการควบคุมตัว
การดำเนินคดีในชั้นศาล ห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้มาจากการทรมาน หรือการถูกกระทำให้บุคคลสูญหาย เพื่อเป็นการยืนยันและแสดงให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเห็นว่า การได้มาซึ่งพยานหลักฐานจากการทรมาน หรือการถูกกระทำให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะอ้างเหตุความมั่นคงของชาติ เพื่อการปราบปรามยาเสพติด เพื่อการคลี่คลายอาชญากรรมร้ายแรง หรือเพื่อการอื่นใดนั้น ไม่อาจกระทำได้ในทุกกรณี นอกจากนี้ควรกำหนดให้การกระทำทรมาน หรือการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องถูกพิจารณาโดยศาลอาญาหรือศาลยุติธรรมที่มีอำนาจพิจารณาคดีในทุกกรณี และกำหนดให้ความผิดฐานกระทำทรมาน และฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย เป็นคดีที่ไม่มีอายุความ
และคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย ต้องมิใช่บุคคลในหน่วยงานเดียวกันกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกร้องเรียน และควรกำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการฯ แต่งตั้งมาจากผู้แทนของผู้เสียหายคดีการทรมานและคดีการกระทำให้บุคคลสูญหายด้วย