เชียงราย - พบแรงงานต่างด้าวทำโควิดระบาดกระจายหลายพื้นที่เชียงราย ล่าสุด สธ.หนุนศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ มฟล.เปิดคอลเซ็นเตอร์ภาษาเมียนมา พร้อมเร่งหาช่องทางจัดซื้อชุดตรวจ ATK ปูพรมคัดกรองกลุ่มแรงงานทั้งเมือง
วันนี้ (3 ต.ค. 64) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเขต อ.เมืองเชียงราย โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครเชียงรายและพื้นที่ใกล้เคียงเพิ่มมากขึ้น พบผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ในกลุ่มแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาพักตามหอพัก แคมป์คนงาน ตลาด โรงงาน ฯลฯ จนทำให้ผู้ป่วยแพร่ไปตามจุดต่างๆ
โดย 2 ต.ค.ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันในเขต อ.เมืองเชียงราย ถึง 17 ราย อ.แม่สาย 3 ราย เวียงแก่น 3 ราย อ.เวียงชัย 1 ราย อ.แม่ฟ้าหลวง 1 ราย อ.แม่ลาว 2 ราย รวมทั้งหมด 27 ราย และวันที่ 3 ต.ค.พบในเขต อ.เมืองเชียงราย 6 ราย อ.แม่สาย 2 ราย อ.เวียงแก่น 2 ราย อ.พญาเม็งราย 1 ราย อ.แม่ลาว 1 ราย
ผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในเขต อ.เมืองเชียงราย เริ่มจากแคมป์คนงานก่อสร้างศูนย์บริการสุขภาพแบบครบวงจร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ต.นางแล อ.เมืองเชียงราย ที่ตรวจคัดกรองเมื่อ 17 ก.ย.พบผลบวกประมาณ 80 ราย จากนั้นได้ตรวจพบในแคมป์คนงานอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันทั้งในมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย สถานที่ก่อสร้างศาลอุทธรณ์ภาค 5 ตลาดค้าปลีกค้าส่งผักและผลไม้ขนาดใหญ่ โรงงานน้ำแข็ง ตลาดสดกลางเมืองเชียงราย ฯลฯ ซึ่งแต่ละแห่งล้วนเกี่ยวข้องกันเพราะมีแรงงานที่พักอาศัยตามหอพักหรือแคมป์คนงาน เดินทางไปทำงานยังแต่ละจุดแล้วกลับมาพักอาศัยอยู่ด้วยกัน
อาจารย์สืบสกุล กิจนุกร นักวิชาการสำนักวิชานวัตการสังคม มฟล.ในฐานะศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ จ.เชียงราย กล่าวว่า ตั้งแต่มีวิกฤตในกลุ่มแรงงานใน มฟล.และตลาดค้าปลีกค้าส่งผักผลไม้ใน อ.เมืองเชียงราย ก็เริ่มพบผู้ติดเชื้อเข้าข่ายกระจายไปยังสถานที่แรงงานเหล่านี้พักอาศัยเรื่อยๆ เพราะมีการติดต่อกับนายจ้าง ญาติ คนงานด้วยกัน ฯลฯ ทำให้ยากต่อการควบคุมมากกว่าเดิม เนื่องจากแรงงานไม่ได้อาศัยอยู่เฉพาะในแคมป์ที่เป็นสถานที่ปิดหรืออยู่ตามชนบท แต่อยู่ตามหอพัก หมู่บ้าน ฯลฯ ในตัวเมืองเชียงราย
การแก้ไขปัญหาทำได้ 2 ทาง คือ นำตัวผู้ที่มีผลตรวจเป็นบวกหรือตรวจพบว่าติดเชื้อยืนยันไปทำการรักษา หรือส่งเข้าไปยังศูนย์คัดแยกในชุมชนหรือ Community isolation โดยไม่สามารถให้กักตัวที่บ้านหรือ Home isolation ได้เพราะลักษณะการอาศัยไม่ใช่เป็นบ้าน และอีกทางคือตรวจเชิงรุกไปยังชุมชนดังกล่าวซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการอย่างเต็มที่
สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการขาดการประสานงานหรือทำความเข้าใจกันระหว่างหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสาธารณสุข ท้องถิ่น กับกลุ่มแรงงานดังกล่าว เพราะปัญหาด้านภาษาและช่องทางการติดต่อ ด้วยเหตุนี้ ทางศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ จ.เชียงรายจึงได้รับเป็นหน่วยงานกลางล่าสุดได้รับการสนับสนุนจากสาธารณสุขในการให้เครื่องมือสื่อสารและอุปกรณ์เปิดเป็นศูนย์ติดต่อหรือ Call center เป็นภาษาเมียนมา เพื่อให้แรงงานชาวเมียนมาสอบถามข้อมูลว่าพวกเขาควรจะทำอย่างไรในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้ารับบริการทางสาธารณสุขและยับยั้งการระบาดได้ ซึ่งพบว่าหลังจากเปิด Call center ก็มีผู้โทรศัพท์เข้าไปสอบถามอย่างต่อเนื่องและทางศูนย์ก็ประสานกับสาธารณสุขและท้องถิ่น โดยเฉพาะเทศบาลนครเชียงรายซึ่งเป็นท้องถิ่นที่เกี่ยข้องเพื่อดำเนินการต่อไป
แต่ก็พบปัญหาขณะนี้คือ ความต้องการในการตรวจหาเชื้อแบบ ATK ในกลุ่มแรงงานทั้งหมดที่มีอยู่ ซึ่งคาดว่าส่วนใหญ่ไม่ได้รับการตรวจ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะกระจายเชื้อออกไปอีก ซึ่งจากการประชุมร่วมกับทางสาธารณสุขและเทศบาลนครเชียงราย ทราบว่ายังมีข้อสงสัยเรื่องระเบียบการใช้งบประมาณของท้องถิ่นในการจัดหาเครื่องตรวจแบบ ATK เพื่อนำไปตรวจเชิงรุกในแรงงานข้ามชาติ แต่ก็มีบางคนที่ให้ความเห็นว่ามีช่องที่ท้องถิ่นจะสามารถจัดซื้อมาตรวจได้
ดังนั้นเชื่อว่าเรื่องนี้จะนำเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.เชียงราย เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการได้พิจารณาเพื่อเปิดให้ท้องถิ่นได้จัดหาเครื่องตรวจแบบ ATK เพื่อปูพรมตรวจแรงงานข้ามชาติในเขตตัวเมืองเชียงรายโดยเร็วต่อไป