กระทรวงสาธารณสุข-อุตสาหกรรม-แรงงาน ร่วมกับภาคเอกชน ผนึกกำลังหยุดการระบาดโรคโควิด 19 ในโรงงานทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยให้โรงงานทุกขนาด ทุกประเภทกิจการขับเคลื่อน มาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (bubble and seal)
เมื่อวันที่ 3 ก.ย.กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดเสวนาผ่าน เฟซบุคไลฟ์ เรื่อง “ผนึกกำลังฝ่าวิกฤตโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการ” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐและภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนมาตรการป้องกันควบคุมโรค หยุดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในสถานประกอบกิจการ ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีนายกอบชัย สิงสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน มีผู้ร่วมรับชมผ่าน เฟซบุค ไลฟ์ กว่าสองหมื่นคนทั่วประเทศ
นายกอบชัย สิงสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 ในโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า การจัดเสวนาครั้งนี้ มีเป้าหมายในการควบคุมการแพร่ระบาด เพื่อปกป้องเศรษฐกิจประเทศให้เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤตกระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งแต่ 1 เม.ย.–29 ส.ค. 2564 พบการติดเชื้อในโรงงาน 845 แห่ง ใน 62 จังหวัด มีผู้ติดเชื้อกว่า 60,380 ราย โรงงานหลายแห่งต้องหยุดกิจการชั่วคราว ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ โดยมาตรการหลักที่จะใช้ป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ในโรงงานทั่วประเทศ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ได้แก่ มาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) โดยการจัดกลุ่มย่อย ทำงาน ทำกิจกรรม ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน สถานประกอบกิจการดำเนินการต่อไปได้ และมาตรการจีเอฟพี (Good Factory Practice :GFP) ที่เป็นพื้นฐานด้านสุขอนามัยที่ดีของโรงงานและพนักงาน
ทางด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การดำเนินการตามมาตรการบับเบิลแอนด์ซีล ต้องดำเนินงานอย่างจริงจัง เพื่อลดการแพร่กระจายโรคโควิด 19 ภายในสถานประกอบกิจการและชุมชน ทั้งนี้การสื่อสารสร้างความเข้าใจให้กับพนักงาน เพื่อให้เกิดความร่วมมือและปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ สำหรับหัวข้อการเสวนาในวันนี้ ประกอบด้วย 6 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.สถานการณ์การแพร่ระบาดในโรงงาน โดยนายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม 2.มาตรการบับเบิลแอนด์ซีลและระบบพี่เลี้ยง (Coaching System) โดยนายแพทย์อภิชาติ วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค 3.การดูแลสุขภาพใจวัยทำงานภายใต้มาตรการบับเบิลแอนด์ซีล โดยนายแพทย์จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต 4.มาตรการจีเอฟพี ในสถานประกอบกิจการ โดยนายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย 5.การสนับสนุนและทิศทางของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยนางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล สภาอุตสาหกรรม 6.การแชร์ประสบการณ์การดำเนินงาน ต้นแบบสถานประกอบกิจการตามมาตรการบับเบิลแอนด์ซีล จากโครงการอยุธยาโมเดล โดยบริษัทข้าวซี.พี. จำกัด จ.พระนครศรีอยุธยา ในการเสวนาครั้งนี้ มีทีมที่ปรึกษา ทีม Coaching ในการร่วมตอบคำถามกับผู้รับชมผ่านเฟซบุคไลฟ์ ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการบูรณาร่วมกันระหว่างกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ถือเป็นการผนึกกำลังทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการขับเคลื่อนมาตรการ “บับเบิลแอนด์ซีล” ปกป้องได้ ควบคุมไว แรงงานปลอดภัย เศรษฐกิจไทยเดินหน้า