xs
xsm
sm
md
lg

สัญญาณดี! ดัชนีผลผลิตอุตฯ ก.ค.บวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ลุ้นคลายล็อกดาวน์หนุนโตเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุริยะ” ปลื้มสัญญาณภาคการผลิตเริ่มฟื้นตัวหลังดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ค. 64 อยู่ที่ระดับ 91.41 เพิ่มขึ้น 5.12% ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ด้าน สศอ.ยังคงเป้าหมาย MPI ปีนี้โต 4-5% แม้รัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์อาจทำให้ดีขึ้นแต่ยังขอติดตามอีก 2 เดือนก่อนปรับเป้าใหม่เดือน พ.ย.

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้รายงานตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกรกEาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 91.41 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.12% และเป็นอัตราการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักโดยเฉพาะสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปที่ทำให้ภาคการผลิตของไทยได้รับอานิสงส์การขยายการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งสะท้อนจากการส่งออกของไทยในเดือน ก.ค.ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ด้วยมูลค่าส่งออกกว่า 7 แสนล้านบาท

“การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 กระทรวงฯ ได้มุ่งเน้นการควบคุมการระบาดในสถานประกอบการอย่างใกล้ชิด และได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานตามมาตรการควบคุมพื้นที่เฉพาะหรือบับเบิลแอนด์ซีล (Bubble & Seal) และได้จัดทำโครงการนำร่องการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมหรือแฟกตอรีแซนด์บ็อกซ์ (Factory-Sandbox) ภายในสถานประกอบการ โดยมุ่งเป้าอุตสาหกรรมส่งออกหลักของประเทศไทยซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการป้องกันผลกระทบต่อภาคการผลิตที่จะทำให้ไทยสามารถขยายการส่งออกได้ต่อเนื่อง” นายสุริยะกล่าว


นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ก.ค.อยู่ที่ระดับ 91.41 เพิ่มขึ้น 5.12% ส่งผลให้ 7 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ค. 64) MPI ขยายตัว 8.91% ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือน ก.ค.อยู่ที่ 58.12% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ระดับ 57.25% ส่งผลให้เฉลี่ย 7 เดือนแรกอยู่ที่ 64.09% โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ทำให้ MPI ขยายตัว เช่น รถยนต์และเครื่องยนต์ ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ สศอ.ยังคงเป้าหมาย MPI ปี 2564 จะเติบโตอยู่ที่ 4-5% และผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมคาดขยายตัวอยู่ที่ 3-4% แม้ว่าล่าสุดรัฐบาลเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ที่จะมีผลทำให้ภาคการผลิตจะมีโอกาสขยายตัวแต่จะขอติดตามปัจจัยต่างๆ อย่างใกล้ชิดอีกครั้งโดยเฉพาะค่าระวางเรือที่สูงขึ้นและผลกระทบจากโควิด-19 ในสถานประกอบการใกล้ชิดอีก 2 เดือน จากนั้นในเดือน พ.ย.จะมาพิจารณาเปลี่ยนแปลงอีกครั้งตามสถานการณ์จริง เนื่องจาก สศอ.เพิ่งปรับเป้าหมายดังกล่าวเพิ่มขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้

“ปัญหาการขาดแคลนชิปเชื่อว่าจะไม่กระทบมากเพราะว่าผู้ประกอบการได้มีการวางแผนรับมือไปพอสมควรเช่นเดียวกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ในโรงงาน ดังนั้น ในเดือน ก.ย.รัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์น่าจะส่งผลดีต่อการผลิตภาพรวม รวมถึงแนวโน้มการฉีดวัคซีนที่สูงขึ้นและเชื่อว่าสิ้นปีจะไปสู่ระดับ 100 ล้านโดสก็น่าจะทำให้ MPI ปีนี้อาจโตได้ แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ค่าระวางเรือที่ขณะนี้สูงขึ้นมากที่ต้องติดตาม” นายทองชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น