ก.อุตฯ ผนึกกำลังเข้ม 4 มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ในโรงงาน หนุน Bubble and Seal ตรวจประเมินตนเองออนไลน์ผ่าน TSC เพิ่มตรวจ ATK ครอบคลุมถึงหอพัก รถรับส่งแรงงาน กางผลโรงงานทำ TSC ลดติดเชื้อกว่าโรงงานไม่ทำถึง 4.5 เท่า เผยผลสำรวจการติดเชื้อ 1 เมษายน-17 สิงหาคม 2564 ในโรงงาน 749 แห่ง จำนวน 53,135 คน ครอบคลุมพื้นที่ 62 จังหวัด รับยังมีโรงงานติดเชื้อรายวันเพิ่มเฉลี่ยวันละ 13 แห่งแต่ไม่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่
นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประชุมหารือร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะร่วมดำเนินการใน 4 แนวทางเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในโรงงานเพื่อไม่ให้กระทบต่อภาคการผลิตในการพยุงเศรษฐกิจภาพรวมของไทย ประกอบด้วย
1. ปรับมาตรการ Bubble and Seal และ Factory Isolation หรือโรงพยาบาลสนามภายในสถานประกอบการให้เหมาะสมกับโรงงานทุกขนาด พร้อมกับการสื่อสารให้แรงงานและชุมชนเข้าใจถึงเหตุผลที่ไม่หยุดประกอบกิจการ 2. สร้างความรู้ความเข้าใจการทำ Bubble and Seal ในรูปแบบ Coaching คือคอยให้คำแนะนำแนวทางและให้ความช่วยเหลือ ทั้งรูปแบบ Online และ Offline เพื่อให้โรงงานทุกขนาดสามารถดำเนินมาตรการได้พร้อมกันทั่วประเทศ
3. ปรับเกณฑ์ Good Factory Practice : GFP เพื่อปิดช่องว่างที่เป็นสาเหตุของการแพร่ระบาด โดยเสนอเพิ่มมาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยชุด Antigen Test Kit (ATK) และเข้มงวดการตรวจกำกับหอพัก รถรับส่งแรงงาน รวมทั้งการเว้นระยะห่างของผู้ปฏิบัติงาน 4. เร่งขอความร่วมมือโรงงานโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็กเข้าประเมินตนเอง Online ในแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid (TSC) และการสุ่มตรวจประเมินโรงงาน (Onsite) เพื่อแนะนำการใช้มาตรการต่างๆ ในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง
“ข้อมูลที่ได้รับจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าโรงงานที่เข้าประเมินตนเองผ่านออนไลน์ในแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid (TSC) แล้วมีการติดเชื้อน้อยกว่าโรงงานที่ไม่ได้เข้าประเมินถึง 4.5 เท่าดังนั้นจึงขอความร่วมมือให้โรงงานทุกขนาดประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม TSC ควบคู่ไปกับการทำ Bubble and Seal” นางวรวรรณกล่าว
นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหัวหน้าศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤตกระทรวงอุตสาหกรรม หรือศูนย์ CMC : Crisis Management Center กล่าวว่า จากการเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-17 สิงหาคม 2564 พบการระบาดของโรงงานทั้งสิ้น 749 แห่ง มีผู้ติดเชื้อจำนวน 53,135 คน ครอบคลุมพื้นที่ 62 จังหวัด และยังคงมีการระบาดต่อเนื่อง โดยขณะนี้พบผู้ติดเชื้อใหม่ในโรงงานเพิ่มวันละประมาณ 13 แห่ง มีจำนวนผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละกว่า 800 คน หรือประมาณ 4% ของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันของประเทศ ซึ่งเป็นการติดเชื้อหลักสิบไม่ได้เป็นคลัสเตอร์ใหญ่เช่นที่ผ่านมา
“ผู้ติดเชื้อในช่วงเมษายน-17 สิงหาคม 2564 มีจำนวนผู้หายป่วยและกลับมาทำงานได้แล้วจำนวนมาก เพราะผู้ติดเชื้อในโรงงานจะใช้เวลารักษาตัว 14-28 วันก็จะกลับมาทำงานได้ เนื่องจากอยู่ในวัยหนุ่มสาว สุขภาพร่างกายแข็งแรง และมีบางส่วนได้รับการฉีดวัคซีนด้วยแล้ว” นายเดชากล่าว
สำหรับ 5 อันดับจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด คือ จังหวัดเพชรบุรี 4,597 คน ฉะเชิงเทรา 3,648 คน สระบุรี 3,647 คน สมุทรสาคร 3,571 คน และเพชรบูรณ์ 3,487 คน ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมอาหาร 136 โรงงาน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 103 โรงงาน อุตสาหกรรมโลหะ 65 โรงงาน อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม 64 โรงงาน และอุตสาหกรรมพลาสติก 57 โรงงาน
“ขณะนี้มีโรงงานเข้าประเมินออนไลน์ใน TSC แล้วจำนวน 20,032 แห่ง คิดเป็น 31% จากโรงงานทุกขนาด 64,038 แห่ง โดยรวมพบโรงงานผ่านเกณฑ์จำนวน 13,235 แห่ง หรือคิดเป็น 66% และไม่ผ่านเกณฑ์จำนวน 6,797 แห่ง หรือคิดเป็น 34% กรณีไม่ผ่านเกณฑ์จะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขในส่วนใด ซึ่งการดำเนินการยกระดับให้ผ่านเกณฑ์ TSC ควบคู่ไปกับการทำ Bubble and Seal จะเป็นมาตรการที่สามารถป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายเดชากล่าว