xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันยุวทัศน์ฯ-ศวปถ.-สสส. หารือ ศธ. เพิ่มหลักสูตรความปลอดภัยทางถนนในโรงเรียน เสนอจัดอบรมเพิ่มทักษะ กวดขันความปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันยุวทัศน์ฯ-ศวปถ.-สสส. หารือ ศธ. เพิ่มหลักสูตรความปลอดภัยทางถนนในโรงเรียน เสนอจัดอบรมเพิ่มทักษะ กวดขันความปลอดภัย หลังพบเด็กไทยเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนนเพียงปีละ 38 นาที อัตราเสียชีวิตสูงสุดในวัยเรียนช่วงอายุ 10-24 ปี เฉลี่ยปีละ 2,738

วันนี้ (2 ก.ย.) นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวภายหลังเข้าพบคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำเสนอข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และยื่นหนังสือข้อเสนอเชิงนโยบายว่าด้วยความปลอดภัยทางถนน เพื่อขอให้บรรจุหลักสูตรความปลอดภัยทางถนนในการเรียนการสอนในสถานศึกษา โดยสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมกับ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวบรวมข้อมูลจากการบูรณาการข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบว่า อัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนปี 2563 รวม 17,831 คน คิดเป็นอัตราการตายร้อยละ 27.20 ต่อประชากร 1 แสนคน โดยกลุ่มอายุที่เสียชีวิตสูงสุดเป็นเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 10-24 ปี จำนวนผู้เสียชีวิตสูงถึง 2,738 คน เทียบเท่ากับโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษจำนวน 1 โรงเรียน นอกจากนี้ผลการศึกษาโครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุที่มีการลงสอบสวนเชิงลึก กรณีการเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์จำนวน 1,000 กรณี ของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย พบว่า การเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ในกลุ่มอายุต่ำกว่า 24 ปี มีสาเหตุ 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด ร้อยละ 40 2.ตัดสินใจผิดพลาดขณะเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉิน ร้อยละ 27 และ 3.ควบคุมรถผิดพลาด ร้อยละ 24สะท้อนให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนขาดทักษะการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย

นายพชรพรรษ์ กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้พัฒนาข้อเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการเพื่อสร้างความรู้ความปลอดภัยทางถนนให้กับเด็กและเยาวชน 3 ประเด็นดังนี้ 1.พัฒนาหลักสูตร “ทักษะความปลอดภัยทางถนน” และบรรจุเป็นวิชาการเรียนรู้ภาคบังคับในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา จำแนกวิชาตามช่วงวัย โดยระดับประถมศึกษา เรียนรู้เรื่องการเป็นผู้โดยสารอย่างปลอดภัยบนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ของผู้ปกครอง หรือรถรับส่งนักเรียน ส่วนระดับมัธยมศึกษา เรียนรู้เรื่องกฎหมายจราจรและการเป็นผู้ขับขี่ยานพาหนะอย่างมีความรับผิดชอบเน้นให้ผู้เรียนสามารถคาดการณ์ความเสี่ยงที่จะเกิดจากการใช้รถใช้ถนน 2.จัดกิจกรรมอบรมเสริมการเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนนในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งจากการขับเคลื่อนงานความปลอดภัยทางถนนของเยาวชน พบว่า โรงเรียนมีการสอนเรื่องความปลอดภัยทางถนนเพียง 38 นาทีต่อปีการศึกษา และมีกิจกรรมเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนเพียง 39 นาทีต่อปีการศึกษาเท่านั้น ซึ่งเป็นระยะเวลาที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับการอบรมเสริมการเรียนรู้ในหัวข้ออื่น ๆ 3.ขอให้สถานศึกษามีมาตรการด้านความปลอดภัยทางถนน เน้นย้ำการขับขี่รถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นยานพาหนะในการเดินทางยอดนิยมของนักเรียนโดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา จึงควรมีการตรวจสอบความปลอดภัยพื้นฐานและการใช้อุปกรณ์นิรภัย เช่น ใบขับขี่ การดัดแปลงสภาพรถที่อันตราย การสวมหมวกนิรภัย

ด้าน คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่ดูแลการเรียนการสอนของเด็กและเยาวชนโดยตรง จึงขอรับข้อเสนอเชิงนโยบายว่าด้วยความปลอดภัยทางถนน โดยจะนำข้อเสนอไปพัฒนาเป็นนโยบายบังคับใช้ต่อไป โดยกระทรวงศึกษาธิการ ตระหนักถึงปัญหาความปลอดภัยทางถนนของนักเรียน นักศึกษา เนื่องจากทุกปีมีรายงานการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในกลุ่มนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่สร้างความสูญเสียให้กับครอบครัว-ผู้ปกครอง แต่อุบัติเหตุทางถนนของเด็กและเยาวชนยังสร้างความเสียหายต่อการพัฒนาการศึกษาไทย สังคม และเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก






กำลังโหลดความคิดเห็น