จากกรณีที่มีประเด็นเรื่องเสนอให้หยุดการเรียนการสอน 1 ปี เพราะมองว่าการเรียนออนไลน์จะทำให้การเรียนไม่มีประสิทธิภาพ และไม่มีคุณภาพนั้น วันนี้ (17 สิงหาคม 2564 ) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า
แม้ภาคการศึกษาจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่การเรียนการสอนยังต้องดำเนินการต่อไป ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบ On-site On-air On-demand On-hand หรือ On-line ทุกอย่างไม่สามารถหยุดได้ แม้แต่ละรูปแบบการเรียนการสอนอาจจะมีปัญหาบ้าง แต่อย่างน้อยนักเรียนแต่ละระดับชั้นยังมีโอกาสเขาถึงระบบการเรียนการสอน ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้พัฒนาการเรียนการสอนโดยเฉพาะรูปออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการสอนออนไลน์ Project 14 ซึ่งจัดทำโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้โดยรวบรวมบทเรียน และจัดทำสื่อการสอนออนไลน์ตั้งแต่ชั้น ป.1- ม.6 ขึ้นมากว่า 2000 ชุด เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ได้จากทุกที่ทุกเวลา
“ไม่ว่าจะการเรียนหรือการทำงานย่อมมีปัญหา ถึงจะไม่มีเรื่องโควิด-19 การเรียนการสอนก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุค ตามสถานการณ์อยู่แล้ว การเรียนออนไลน์ไม่ได้สร้างปัญหาทุกคน แต่อาจเกิดปัญหาบางกลุ่ม บางระดับ บางอาชีพผู้ปกครอง ซึ่งดิฉันต้องขอแสดงความเห็นใจผู้ปกครองทุกท่าน น้อง ๆ นักเรียนที่วันนี้ต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ ซึ่งไม่มีใครทราบว่าจะกลับมาสู่ภาวะปกติได้อีกเมื่อไร แต่ถึงอย่างไรทุกคนก็ต้องปรับตัวภายใต้วิถีใหม่หรือ New Normal ที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ในอนาคตเชื่อว่าแม้จะสามารถกลับมาสอนในห้องเรียนตามปกติได้แล้ว แต่การเรียนการสอนในบางวิชาอาจเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม ซึ่งจะดีกว่าเดิมอย่างแน่นอน”
ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดรูปแบบการเรียนการสอนไว้ถึง 5 รูปแบบ เพื่อให้มีความเหมาะสมต่อการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เมื่อสถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลง เราคงต้องอยู่กับวิถีชีวิตแบบใหม่ การเรียนการสอนอาจต้องผสมผสานกันทั้งในรูปแบบออนไลน์และรูปแบบเดิม เพราะรูปแบบการเรียนออนไลน์จะอยู่กับเราตลอดไป จึงจำเป็นต้องวางแผนพัฒนาทักษะครูและนักเรียนให้มีความพร้อมมากขึ้น ทั้งการจัดหาอุปกรณ์และเทคโนโลยีให้กับทั้งผู้เรียนและผู้สอน และการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเพื่อให้เหมาะสมกับการเรียนออนไลน์
ส่วนเรื่องอุปกรณ์การเรียน และเทคโนโลยีนั้นถือเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่มีความสำคัญ จะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนของเด็กไทย โดยขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมกับภาคเอกชนและสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ได้จัดหาอุปกรณ์ (smart devices) ประกอบการเรียนออนไลน์ให้แก่นักเรียนได้ยืมใช้งานจากโรงเรียน รวมไปถึงทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือทางด้านอินเตอร์เน็ต เพื่อลดภาระทั้งครูและผู้ปกครองเป็นเวลา 2 เดือน คือตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม ถึง 15 ตุลาคม 2564 และหากสถานการณ์โควิด-19 ยังส่งผลกระทบก็จะพิจารณาขยายเวลาออกไปอีก
นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการ ยังได้ปรับแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อไม่ให้เป็นภาระเพิ่มสำหรับครู โดยยังคงเดินหน้าปฏิรูปหลักสูตร ให้การศึกษาพัฒนาเด็กไทยให้มีความรู้และทักษะให้ทำงานเป็น ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสังคมได้ดี โดยได้มีการปรับหลักสูตรฐานสมรรถนะใหม่ที่แตกต่างจากเดิมในสาระสำคัญ เช่น ช่วงชั้นประถมศึกษาตอนต้น หรือ ชั้น ป.1-ป.3 เวลาเรียนลดลง โดยลดจาก 1,000 ชั่วโมงเป็น 800 ชั่วโมง ปลดล็อกด้านตัวชี้วัด เด็กเรียน 7 สาระการเรียนรู้ แทน 8 สาระการเรียนรู้ เป็นต้น
ทั้งนี้คณะกรรมการอำนวยการปรับปรุงหลักสูตรฯ ได้นำแผนที่ปรับเปลี่ยนใหม่ดังกล่าว เสนอต่อคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ไปเมื่อวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมานี้ และคาดว่าจะจัดให้นำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้ประมาณวันที่ 1 กันยายน 2564 โดยจะทยอยเผยแพร่คู่มือ หลักสูตร ที่มีตัวอย่างสถานการณ์และกิจกรรมการเรียนรู้ที่ปรับใช้ในพื้นที่และในรูปแบบการสอนออนไลน์ได้
“ดิฉันขอให้กำลังใจครู ผู้ปกครอง นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษาทุกคน ในการก้าวผ่านภาะวิกฤต และขอยืนยันว่าเราจะไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดังความตั้งใจของดิฉันในการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาภายใต้แนวคิด ทันสมัย-เท่าเทียม-ยั่งยืน”ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว