กระทรวงสาธารณสุข เผย รักษาผู้ป่วยโควิด-19 หายแล้วล้านกว่าราย จำนวนผู้หายป่วยรายวันมีมากกว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ซึ่งมีแนวโน้มลดลง และประชาชนคงป้องกันตัวเองขั้นสูงสุดตามมาตรการ Universal Prevention เพื่อกลับไปใช้ชีวิตปกติตามวิถีใหม่ที่ปลอดภัยโดยเร็ว
วันนี้ (1 ก.ย.) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีแนวโน้มดีขึ้น มีจำนวนผู้หายป่วยรายวันมากกว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ซึ่งมีแนวโน้มลดลง และจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลลดลงชัดเจน เช่น โรงพยาบาลสนามบุษราคัม จากเคยมีผู้ป่วยมากกว่า 3,500 คน ลดเหลือ 1,500 คน ศูนย์นิมิบุตรมีผู้ป่วยรอส่งต่อเหลือไม่ถึง 70 คน ภาพรวมมีผู้ป่วยที่รักษาหายสะสมแล้ว 1,040,768 ราย จากผู้ติดเชื้อทั้งหมด 1,219,531 ราย วันนี้ มีผู้ที่หายป่วย 18,996 ราย ติดเชื้อรายใหม่ 14,802 ราย
นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า ในวันนี้เป็นวันแรกที่รัฐบาลอนุญาตให้กิจการ กิจกรรม บางประเภทสามารถเปิดบริการได้ภายใต้มาตรการที่รัฐกำหนด และหลักการ COVID-Free Setting ในพื้นที่สีแดงเข้ม เช่น ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ขนส่งสาธารณะ เป็นต้น เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศสามารถเดินหน้าต่อได้และผ่อนคลายการใช้ชีวิตให้กับประชาชน โดยยังต้องป้องกันตนเองขั้นสูงสุด คิดเสมอว่าคนรอบข้างมีความเสี่ยงหรือติดเชื้อ ให้ปฏิบัติตัวตามมาตรการ Universal Prevention คือ ออกจากบ้านเมื่อจำเป็น/เว้นระยะห่างจากคนอื่น/สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา/ล้างมือบ่อยๆ/หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัส หน้ากากอนามัย/เลี่ยงการออกนอกบ้านเว้นแต่จำเป็น/ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อยๆ/แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด/เลือกทานอาหารที่ร้อนหรือปรุงสุกใหม่ และหากสงสัยว่ามีความเสี่ยง ควรรับการตรวจด้วย ATK อย่างไรก็ตาม ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์หลังผ่อนคลายใน 2 สัปดาห์อย่างใกล้ชิด หากดีขึ้นรัฐบาลจะพิจารณาเปิดกิจการ กิจกรรมเพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติได้ต่อไป นอกจากนี้ขอให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนตามกำหนดนัดหมายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง และหากป่วยจะช่วยลดอาการรุนแรงและการเสียชีวิตได้
ส่วนภาพรวมการฉีดวัคซีนของประเทศไทย ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 มีผู้ได้รับวัคซีนสะสมแล้ว 32,600,001 โดส ถือว่าฉีดได้เกินเป้าหมาย เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 23,975,098 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 8,212,750 ราย เข็มที่ 3 สำหรับบุคลากรการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่ต้องสัมผัสผู้ป่วย 592,153 ราย