รองโฆษกสำนักนายกฯ เผย รัฐบาลเดินหน้าเปิดประเทศควบคู่มาตรการสาธารณสุข เปิด 10 หลักการ “ป้องกันติดเชื้อแบบครอบจักรวาล”
วันนี้ (25 ส.ค.) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการแจงให้เคลียร์กับทีมโฆษกรัฐบาล ถึงการเตรียมการเปิดประเทศ ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา มีโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ หรือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก และเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมาได้มีการเปิดภูเก็ตแซนด์บอกซ์ แบบ 7+7 ทั้งนี้ รัฐบาลจะดำเนินการต่อในเรื่องการเปิดประเทศ แต่จะต้องควบคู่ไปกับมาตรการทางด้านสาธารณสุขที่เข้มข้น
ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ล่าสุด คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเกี่ยวกับเรื่องการเปิดประเทศอย่างปลอดภัย โดยให้เปิดเป็นจุด ไปตามความพร้อมและมาตรการที่เตรียมไว้ คือ ประชาชนจะต้องฉีดวัคซีนครบ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันหมู่ รวมถึงมาตราการหน่วยเคลื่อนที่เร็ว CCRT และจากนี้เราอาจจะได้ยินคำว่าการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention Covid-19) โดยมีข้อปฏิบัติ 10 ข้อ ดังนี้ 1. ออกจากบ้านเมื่อจำเป็นเท่านั้น 2. เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร ในทุกสถานที่ 3. สวมหน้ากากอนามัยและทับด้วยหน้ากากผ้าตลอดเวลาทั้งที่อยู่ในและนอกสถานที่มีคนมากกว่า 2 คน 4. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง ก่อนรับประทานอาหาร หรือหลังใช้ส้วม ไอ จาม หรือสัมผัสวัตถุสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน 5. หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าที่สวมใส่อยู่รวมทั้งใบหน้า ตา จมูก ปากโดยไม่จำเป็น 6. ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และผู้มีโรคเรื้อรัง หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน เว้นแต่จำเป็น (น้อยครั้งและใช้เวลาสั้นที่สุด) 7. ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของ เครื่องใช้ หรือสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ 8. แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้อื่น
น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า 9. เลือกทานอาหารที่ร้อนหรือปรุงสุกใหม่ ควรทานอาหารแยกสำรับ หากทานร่วมกันให้ใช้ช้อนกลางส่วนตัว และ 10. หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง เช่น สัมผัสผู้ที่อาจติดเชื้อ หรือมีอาการควรได้รับการตรวจด้วย ATK บ่อยๆ เพื่อยืนยันว่า มีการติดเชื้อหรือไม่ หรือไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ทั้งนี้ ต่อไปนี้โรค โควิด-19 ในอนาคตอาจจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เช่น โรคใครหวัดใหญ่ ที่คนเป็นเองและหายได้ ซึ่งในหลายประเทศมีมาตรการในลักษณะแบบนี้ เช่น ประเทศสิงคโปร์ที่ประชาชนเรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่กับโรคโควิด-19.