xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล แนะนำทานอย่างไร ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อาจารย์ ดร.วีรยา การพานิช อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพิษวิทยาและโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
“ต้องทานอาหารเสริม เพิ่มเติมจากมื้ออาหารที่ทานหรือไม่นะ?”
“สมุนไพรต่าง ๆ ที่มีการแนะนำให้ทานในช่วงนี้ จะช่วยเสริมได้จริงไหมนะ?”


คำถามเหล่านี้คงมีเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ ด้วยจำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่ยังคงเพิ่มขึ้น รวมถึงการกลายพันธุ์ของเชื้อที่วัคซีนยังพัฒนาไม่ทัน การปฏิบัติตัวเพื่อการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 สำหรับประชาชนทั่วไปตามข้อแนะนำของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่เราจะต้องทำตามอย่างเคร่งครัด แล้วการทานอาหารเสริมเพิ่มเติมจากการทานอาหารปกติมีความจำเป็น และช่วยเสริมภูมิคุ้มกันได้จริงหรือไม่ ทางสถาบันโภชนาการ โดยหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพิษวิทยาและโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัย มหาวิทยาลัยมหิดล จะมาให้ข้อแนะนำ

อาจารย์ ดร.วีรยา การพานิช อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพิษวิทยาและโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ในบรรดาสารอาหารทั้งหมด ธาตุสังกะสี หรือ Zinc ถือเป็นสารอาหารที่ได้รับความสนใจจากนักวิจัยมากที่สุดในขณะนี้ มีงานวิจัยที่กำลังดำเนินการอยู่ในหลายประเทศ เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการเสริมธาตุสังกะสีเพื่อลดการติดเชื้อ หรือลดความรุนแรงของอาการของโรค COVID-19 ธาตุสังกะสี หรือ Zinc เป็นธาตุที่จำเป็นต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยจะช่วยสร้างและช่วยในการทำงานของเม็ดเลือดขาวชนิด T-lymphocyte รวมถึงช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อภาวะปอดอักเสบโดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ โดยปริมาณธาตุสังกะสีที่ควรได้รับต่อวันกำหนดไว้ดังนี้ ผู้ชายไทย วัยผู้ใหญ่ 11 มิลลิกรัม ผู้หญิงไทย วัยผู้ใหญ่ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร 9 มิลลิกรัม หญิงตั้งครรภ์ 10.6 มิลลิกรัม และหญิงให้นมบุตร 11.9 มิลลิกรัม ปริมาณสูงสุดของธาตุสังกะสีที่ได้รับแต่ละวัน สำหรับผู้ใหญ่คือ ไม่เกิน 40 มิลลิกรัมต่อวัน”

“เราสามารถทานอาหารทั่วไปที่มีธาตุสังกะสีอยู่มากได้แก่ อาหารทะเล เช่น หอยนางรม หอยแครง (มีปริมาณธาตุสังกะสีระหว่าง 2-4 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม) เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู (มีปริมาณธาตุสังกะสีระหว่าง 5-8 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม) และธัญพืช เช่น เมล็ดฟักทอง มะม่วงหิมพานต์ ถั่วปากอ้า (มีปริมาณธาตุสังกะสีระหว่าง 4-8 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม) ซึ่งหากเราทานอาหารเหล่านี้เป็นประจำก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทานอาหารเสริมแร่ธาตุแต่อย่างใด เพราะการทานธาตุสังกะสีในรูปแบบอาหารเสริมจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากและตรวจสอบปริมาณสังกะสี เพื่อป้องกันการได้รับธาตุสังกะสีมากเกินไป และควรใช้ในกรณีที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอเท่านั้น ซึ่งหากไม่มั่นใจ ควรปรึกษาแพทย์นักโภชนาการ เพื่อประเมินว่ามีความจำเป็นต้องบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือไม่” อาจารย์ ดร.วีรยา กล่าวเสริม 

รองศาสตราจารย์ ดร.ทพญ.ดุลยพร ตราชูธรรม ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาพิษวิทยาและโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
รองศาสตราจารย์ ดร.ทพญ.ดุลยพร ตราชูธรรม ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาพิษวิทยาและโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อแนะนำว่า “การทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ที่มีวิตามินและแร่ธาตุครบถ้วน เป็นสิ่งจำเป็นในการเสริมภูมิต้านทานโรค โดยหากเรารับประทานเพียงพอแล้วก็ไม่จำเป็นต้องทานอาหารเสริมแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามหากเราได้รับ วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินซี สังกะสี ซีลีเนียม ไม่เพียงพอก็อาจพิจารณารับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสารอาหารดังกล่าวเพิ่มช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้นอกจากสารอาหารดังกล่าวแล้ว อาหารและเครื่องดื่มที่มีรายงานว่าอาจช่วยเสริมภูมิคุ้มกันต้านไวรัส ได้แก่

1.ชาดำ (Black Tea) ที่มีสาร Polyphenol Catechin Alkaloid จะช่วยลดการติดเชื้อของไข้หวัดใหญ่และเริม (HSV1)
2.กระเทียม (Garlic) มีสาร Allicin Diallyl Trisulfide ที่ช่วยต้านเชื้อไข้หวัดใหญ่ (Influenza) ไข้หวัดไรโนไวรัส (Rhinovirus) โรคติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส (Cytomegalovirus) โรคเริม (Herpes Simplex) โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า (Rotavirus) ซึ่งงานวิจัยในคนพบว่า สารสกัดกระเทียม ลดอาการจากหวัด และทำให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น
3.เห็ดหอม (Shitake Mushroom) มีสาร Beta-Glucans ซึ่งช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของไว้รัส และเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ต้านเชื้อราและแบคทีเรีย
4.ขิงสด (Ginger) ช่วยยังยั้งการบุกรุกของไวรัส HRSV (Human Respiratory Syncytial Virus) จึงป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง
5.โยเกิร์ต (Yogurt) หรือนมเปรี้ยว มีงานวิจัยมากมายระบุว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ (โพรไปโอติกส์) เช่นL.paracasei ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ งานวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า จุลินทรีย์ชนิด L. plantarum และ L. salivarius สามารถยับยั้งการเจริญชอง Corona Virus ชนิดที่ทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินอาหาร Gastroenteritis โดยเชื้อทั้งสองตัวเป็นเชื้อประจำถิ่น (Normal Flora) ในช่องปากอยู่แล้ว แปลว่าถ้าเราสุขภาพแข็งแรงมีจุลินทรีย์ตัวดีอยู่มากพอ ก็น่าจะช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้”

การรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการอย่างเพียงพอ จึงพอเพียงกับร่างกายที่จะนำไปเสริมสร้างภูมิต้านทาน และป้องกันการติดเชื้อได้ในระดับหนึ่ง สิ่งสำคัญนอกเหนือจากการทานดี ทานครบแล้ว เราทุกคนยังคงต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติตนด้วยการดูแลตนเอง และรักษาระยะห่างตามข้อแนะนำการป้องกัน COVID-19 อย่างเคร่งครัด เพื่อบุคคลที่เรารัก และมีความรับผิดชอบต่อสังคม ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่เราทุกคนต้องช่วยกัน เพื่อให้เราผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น