อาจารย์ ดร.ชุติกร นพรัตน์
ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล
มหาวิทยาลัยมหิดล
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สถานที่ทำงานหลาย ๆ แห่งปฏิบัติตามมาตรการของรัฐส่งผลให้คุณแม่หลายท่านต้องทำงานจากที่บ้าน (work from home) เป็นบางวันหรือเต็มเวลา ส่วนคุณลูกก็มีเรียนออนไลน์ที่บ้านเต็มเวลาเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่ควรจะเป็นคือแม่และลูกน่าจะได้มีเวลาอยู่ด้วยกันเพิ่มมากขึ้น นั้นย่อมหมายถึงห้วงเวลาคุณภาพที่พ่อแม่จะสามารถส่งเสริมการพัฒนาสมองและร่างกายของลูกได้เป็นอย่างดี แต่ในหลาย ๆ ครอบครัวไม่ได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากพ่อแม่ก็ต้องทำงานที่บ้าน หรือคิดไม่ออกว่าจะเล่นอะไรกับเด็ก จึงพบว่าในหนึ่งวัน เด็กจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับจอคอมพิวเตอร์ จอโทรศัพท์มือถือ หรือ digital device อื่น ๆ ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เด็กมีช่วงเวลาและคุณภาพการนอนและเวลาในการมีกิจกรรมทางกายลดลง (Kaditis, Ohler et al. 2021) แต่ในทางกลับกันเวลาที่ใช้อยู่หน้าจอกลับมากขึ้น (Lee 2020) ซึ่งส่งผลเสียหลายอย่างทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างคาดไม่ถึง เช่น
- การอยู่หน้าจอมากเกินไปส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้อตาล้า ปวดตา แสบตา เคืองตา น้ำตาไหล ตาพร่ามัว รวมไปถึงผลกระทบระยะยาวจากคลื่นแสงสีฟ้าของจอโทรศัพท์มือถือจะส่งผลให้เซลล์ใน จอประสาทตาเสื่อมสภาพได้
- เสียเวลาคุณภาพที่ควรได้รับจากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างคุณแม่กับลูก (Mother-child attachment and bonding)
- ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและโอกาสในการได้รับการส่งเสริมพัฒนาการในด้านต่างๆ เนื่องจากใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับจอ ทำให้สูญเสียโอกาสในการพัฒนา เช่น
พัฒนาการทางด้านภาษาและสังคม (Language and Social Development) เนื่องจากสื่อดิจิทัลหรือการใช้เวลาหน้าจอเป็นการสื่อสารทางเดียว เด็กจึงขาดโอกาสในการพูดคุยโต้ตอบให้ผู้ใหญ่ หรือการเล่นกับเด็กวัยเดียวกัน
พัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ (Gross and Fine Motor Development) ขณะที่เด็กกำลังดูจอมักเป็นการนั่งเฉย ๆ ไม่มีการเคลื่อนไหว หรือใช้กำลังมือ กำลังแขน
พัฒนาการด้านการรู้คิด (Cognitive Development) ขาดโอกาสในการฝึกคิดแก้ไขปัญหา ความคิดริเริ่ม การวางแผนในการลงมือกระทำกิจกรรมต่าง ๆ เด็กจะเรียนรู้ได้ดีเมื่อเด็กได้มีโอกาสในการลงมือทำและมีส่วนร่วมในกิจกรรม ส่งผลกระทบถึงทักษะการคิดเชิงบริหาร (Executive Function) ของเด็กด้วย
- คลื่นแสงจากจอโทรศัพท์มือถือโดยเฉพาะคลื่นแสงสีฟ้าซึ่งมีช่วงความยาวคลื่นสั่น (short wavelengths) ประมาณ 400-440 nm นั้น สามารถส่งผลกระทบอย่างคาดไม่ถึงต่อคุณภาพการนอนหลับของเด็ก ๆ กล่าวคือ ร่างกายของมนุษย์จะมีระบบนาฬิกาชีวภาพ (Circadian system) ซึ่งช่วยประสานการทำงานของระบบต่างๆในร่างกายให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกลไกการนอนหลับจะมีวงจรนาฬิกาชีวิต (Circadian rhythms) ที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงโดยมีระดับของ เมลาโทนินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งจากต่อมไพเนียล (Pineal gland) เป็นตัวควบคุมวงจรการหลับ ตามปกติในเวลากลางวันคลื่นแสงสีฟ้าจากพระอาทิตย์จะยับยั้งการหลั่งของเมลาโทนินซึ่งเป็นกลไกตามปกติของร่างกาย แต่ในเวลากลางคืนหรืออีกนัยหนึ่งคือเวลาที่เมลาโทนินควรต้องหลั่งตามวงจรนาฬิกาชีวิต ถ้าสมองถูกรบกวนด้วยคลื่นแสงสีฟ้าจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือหรือ digital device ต่าง ๆ จะทำให้ระดับเมลาโทนินหลั่งออกมาน้อยกว่าปกติ ซึ่งส่งผลให้นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท รวมถึงสูญเสียคุณภาพการนอนหลับที่ดีได้ (Wahl, Engelhardt et al. 2019)
สำหรับเด็ก ๆ นั้น การนอนหลับที่เพียงพออย่างมีคุณภาพ นอกจากจะสามารถเพิ่มการหลั่งของฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth Hormone) ซึ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาทั้งร่างกายให้เจริญเติบโตสมวัยแล้ว ยังจำเป็นสำหรับการเสริมสร้างพัฒนาการของระบบสมองอีกด้วย (Scheepens, Moderscheim et al. 2005) โดย Growth Hormone จะหลั่งได้มากในช่วงของการหลับลึก (stage3-4 ของ NREM sleep) หมายความว่า ถ้าวงจรการหลับนี้ถูกรบกวนจากคลื่นแสงสีฟ้าของจอโทรศัพท์จะส่งผลโดยตรงต่อการนอนหลับและสัมพันธ์กับพัฒนาการทั้งทางด้านสมองและร่างกายของเด็ก ๆ โดยตรง นอกจากนี้ การนอนหลับที่เพียงพอยังช่วยให้ร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อโรคต่าง ๆ ภูมิคุ้มกันถือเป็นสิ่งสำคัญมากในการต่อสู้กับเชื้อโรค เมื่อทราบเหตุผลดังนี้แล้วคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองควรตระหนักถึงภัยเงียบของการเล่นโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานซึ่งอาจปรับได้โดยการจำกัดเวลาการเล่นโทรศัพท์เป็นช่วง ๆ และไม่ให้อยู่หน้าจอโทรศัพท์ในเวลากลางคืนหรือก่อนเข้านอนอย่างน้อย 2 – 4 ชั่วโมง
ข้อแนะนำสำหรับการนอนหลับที่ดี
- ฝึกให้ลูกเข้านอนและตื่นเป็นเวลา โดยไม่นอนดึกจนเกินไป
- ไม่ควรให้อยู่หน้าจอโทรศัพท์ 2 – 4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน หรือถ้าจำเป็นควรหาแว่นตาป้องกันแสงสีฟ้า
- ควรปิดไฟหรือหรี่แสงไฟเวลานอน ส่วนเวลากลางวันควรให้เด็กเจอแสงแดดธรรมชาติ
Tips & Trick: กิจกรรมและข้อแนะนำส่งเสริมพัฒนาการตามวัยระหว่างแม่และลูกในช่วงสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19
- ให้เด็กได้มีกิจกรรมทางกาย เช่น การปั่นจักรยาน การกระโดด วิ่ง การได้เคลื่อนไหวร่างกายตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อม เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่
- ได้ช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น ตักข้าว ใส่เสื้อผ้า ติดกระดุม ช่วยเหลืองานบ้านตามระดับพัฒนาการ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กและพัฒนาการด้านการช่วยเหลือตนเอง
- มีช่วงเวลาคุณภาพระหว่างผู้เลี้ยงดูกับเด็ก เพิ่มโอกาสในการพูดคุยสื่อสาร เช่น การอ่านนิทานร่วมกัน เล่นรวมกัน เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาและสังคม หรือแม้นแต่ในช่วงที่มีการใช้สื่อดิจิทัล ผู้ดูแลสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมพูดคุยกับเด็กในสิ่งที่เด็กกำลังดู หรือช่วยเด็กในการเลือกสื่อที่เหมาะสม
.