xs
xsm
sm
md
lg

เผย WHO ไม่ได้รับรอง ATK Standard Q รุ่นที่เข้าร่วมประมูลในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



MGR Online - เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลก ชี้แจงองค์การเภสัชกรรม ยืนยันชุดตรวจโควิด ATK ที่ได้รับการรับรองให้ใช้ฉุกเฉินจาก WHO ครอบคลุมเฉพาะที่ใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์ (Professional Use) เท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงชุดตรวจที่ทดสอบด้วยตัวเอง ชี้แม้จะเป็นยี่ห้อเดียวกัน แต่ต้องดูที่รหัสอ้างอิงว่าเป็นคนละรหัส

จากกรณีปัญหาการประมูลชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบแอนติเจน (ATK) จำนวน 8.5 ล้านชิ้น โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้ทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จัดซื้อ โดยก่อนหน้านี้ ชมรมแพทย์ชนบทได้ออกมาเรียกร้องคัดค้านชุด ATK ที่ชนะการประมูลในราคา 65 บาท (ไม่รวม VAT) จาก บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ให้เป็นผู้นำเข้าชุดตรวจ SARS -CoV-2 Antigen Rapid Test Kit ที่ผลิตโดยบริษัท เล่อผู่ เมดิคอลฯ จากประเทศจีน โดยทางชมรมแพทย์ชนบทอ้างว่า ชุดตรวจดังกล่าวไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (US-FDA) และไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยเสนอว่า ควรจัดซื้อชุดตตรวจ ATK ที่มีมาตรฐานองค์การอนามัยโลกรับรอง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 ส.ค. นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท ในฐานะประธานคณะทำงานกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช. ได้กล่าวสนับสนุนว่า ควรจัดซื้อชุดตรวจยี่ห้อ STANDARD Q ที่นำเข้าโดยบริษัท เอ็มพี กรุ๊ป (ประเทศไทย) ซึ่งได้เจรจาต่อรองราคาพร้อมค่าขนส่งแล้ว อยู่ที่ 120 บาทต่อชุดแทน เนื่องจากได้รับการรับรองมาตรฐานจากองค์การอนามัยโลก (อ้างอิง >> https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_2882024)

นอกจากนี้ ในเวลาต่อมา ในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ซึ่งได้มีวาระการรับทราบมติ ศบค.ในหลายๆ เรื่อง หนึ่งในนั้นมีเรื่องข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องการจัดซื้อ ATK กล่าวคือ มติคณะรัฐมนตรีได้ระบุชัดเจนถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในหน้า 53 วงเล็บ 6 ระบุว่า “การเร่งดำเนินการจัดหาชุดตรวจเชื้อโควิด-19 แบบแอนติเจน (ATK) ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีจำหน่ายในไทย มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมทั้งต้องมีความแม่นยำในการตรวจเพื่อนำสู่การรักษาที่ทันท่วงที และพร้อมจัดส่งให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด”


อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (20 ส.ค.) เฟซบุ๊ก Arnond Sakworawich ของ ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เปิดเผยข้อมูลเป็นอีเมลตอบข้อความจากการที่องค์การเภสัชกรรม ส่งไปสอบถาม เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้านการตรวจวินิจฉัยไวรัส ขององค์การอนามัยดลกว่า ชุด ATK Standard Q ของ SD Biosensor ที่มีการส่งเข้าประมูลในประเทศไทยนั้น ได้รับการรับรองจาก WHO จริงหรือไม่ ซึ่งก็ได้รับคำตอบมาว่า ชุด ATK ของ Standard Q รุ่นที่ได้รับการรับรองจาก WHO นั้น เป็นคนละรุ่นกับที่มีการส่งเข้าประมูลในประเทศไทย

รุ่นของสินค้าที่อยู่ในรายชื่อการอนุญาตให้ใช้ในขั้นตอนการฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลก ใช้อ้างอิงเฉพาะสินค้ารุ่นที่ใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์ (Professional use) เท่านั้น และไม่ได้รวมถึงรุ่นที่ใช้ทดสอบด้วยตัวเอง (self-test) กรุณาทราบด้วยว่าในขั้นตอนการใช้ฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก ไม่ได้ครอบคลุมการทดสอบด้วยตัวเองอยู่ในคำแนะนำขององค์การฯ แต่อย่างใด” เจ้าหน้าที่จาก WHO ระบุตอนหนึ่งในข้อความที่ตอบอีเมลของ อภ.


“อีเมลตอบจากองค์การอนามัยโลก หลังจากที่องค์การเภสัชกรรม เขียนไปถามว่า Standard Q ของ SD Biosensor รุ่นที่เสี่ยเป็ดจากบริษัท mp นำมาเข้าประมูลกับทาง อภ. ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลกหรือไม่ อีกทั้งรุ่นนี้พวกแพทย์อ้างชนบท เช่น หมอฉิก ในนาม สปสช. พยายามล็อกแล้วล็อกอีก ให้ได้ราคา 118.9 บาท ให้ชนะการประมูลให้ได้

“การที่องค์การอนามัยโลกตอบกลับมาว่าเป็นคนละรุ่นกัน และองค์การอนามัยโลกรับรองมาตรฐานให้ Standard Q เฉพาะรุ่น professional use เท่านั้น ไม่ใช่รุ่นที่เอามาประมูล ดังนั้น เท่ากับไม่มียี่ห้อไหนผ่านมาตรฐานองค์การอนามัยโลก” 
ผศ.ดร.อานนท์ระบุ

นอกจากนี้ เปิดเผยข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติมด้วยว่า ATK ยี่ห้อ Standard Q รุ่นที่ได้รับการรับรองให้ใช้งานฉุกเฉิน (EUL) จาก WHO นั้น มีเลขรหัสอ้างอิง (Ref Number) คือ Q-NCOV-01G ซึ่งระบุชัดเจนว่า ต้องให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้เท่านั้น (Professional Use) ส่วนรุ่นที่มีการส่งเข้าประมูลเพื่อแจกจ่ายให้ใช้ตามบ้านนั้นมีรหัสอ้างอิง Q-NCOV-03G

อนึ่ง ATK ยี่ห้อ Standard Q ผลิตโดย SD Biosensor Inc. ผลิตโดยประเทศเกาหลีใต้ ที่มีการเข้าประมูลในประเทศไทยนั้น มีการนำเข้าโดยบริษัท เอ็มพี กรุ๊ป (ประเทศไทย) จํากัด แต่แพ้ประมูลไป เนื่องจากราคาเสนอแพงกว่าคือ 118.9 บาท (ไม่รวม VAT)




กำลังโหลดความคิดเห็น