xs
xsm
sm
md
lg

ศบค.เผยข้อมูลฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม มีโอกาสติดโควิด แต่อัตราตายต่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศบค. แนะบ้านที่มีคนแก่-เด็ก ต้องแยกห้องนอน แยกของใช้ และเน้นทำความสะอาดบริเวณใช้ร่วมกัน หากพบติดเชื้อโควิด-19 เผยข้อมูลผู้ได้รับวัคซีน 2 เข็ม สัดส่วนเสียชีวิตเพียง 0.5% สธ.ย้ำเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง สูงวัย โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์

วันนี้ (9 ส.ค.) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กล่าวถึงในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กได้หารือถึงกรณีเด็กเสียชีวิต เนื่องจากวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา มีทารกอายุ 14 วัน เป็นชาวเมียนมา จาก จ.เพชรบูรณ์ และมีข้อมูลเข้ามาว่าที่ผ่านมามีเด็กติดเชื้อโควิด-19 หากดูข้อมูลจากเพจ ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย ซึ่งระบุว่า ในตัวเลขเด็กติดเชื้อ โควิด-19 ขณะนี้อยู่ที่ราว 3 หมื่นกว่าราย รายงานเสียชีวิต 9 ราย ในจำนวนนี้ 8 ใน 9 มีรายงานโรคประจำตัว สิ่งที่กรมควบคุมโรคอยากจะเน้นย้ำ กรณีที่มีเด็กเล็ก ผู้สูงวัย และผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน มีคำแนะนำแยกห้องนอนผู้สูงอายุ หากบ้านมีพื้นที่จำกัดให้ใช้ฉากกั้น และเน้นให้ผู้สูงอายุอยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี แยกของใช้ ชาม ช้อน ผ้าเช็ดตัว มีการทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมภายในบ้าน เช่น ตู้เย็น ลูกบิดประตู โถส้วม อ่างล้างหน้า ราวบันได เป็นต้น

ในบางครอบครัวที่มีข้อจำกัด อาจจะใช้ร่วมกัน ให้ผู้สูงอายุเข้าห้องน้ำก่อนและทำความสะอาดบ่อยๆ “กรมอนามัย” มีการออกคู่มือการอยู่ร่วมบ้านกับผู้สูงอายุ หรือเด็กเล็ก ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ ภายในบ้านอย่างไร สามารถศึกษารายละเอียดได้ สิ่งสำคัญ หากเป็นผู้สูงอายุที่ติดเตียง ต้องมีคนดูแล ช่วยพลิกตัว ป้อนอาหาร “กรมควบคุมโรค” แนะนำให้มีผู้ดูแลเพียงคนเดียว และควรจะเป็นคนที่มี การอยู่บ้านมากที่สุด เดินทางไปชุมชนน้อยมาก ขณะที่การดูแลผู้สูงอายุต้องสวมหน้ากากอนามัย ด้านผู้สูงอายุที่ไม่มีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ ควรสวมหน้ากากอนามัยให้ท่านด้วย อาจจะสวมถุงมือทิ้งขยะให้ถูกต้อง

ด้าน “กรมสุขภาพจิต” เน้นย้ำว่า ต้องสังเกตอาการ ผู้สูงอายุด้วย เพราะบางทีลูกหลาน เดินทางไปชุมชน ไปที่ทำงาน กลับมาบ้านอาจจะมีการติดเชื้อสู่ผู้สูงอายุ และไม่ทราบว่าผู้สูงอายุเจ็บป่วย อาจมีอาการซึมลง รับประทานอาหารน้อย เหนื่อยมากขึ้น ต้องสังเกตอาการ วัดอุณหภูมิเป็นประจำวันละ 2 ครั้ง การแยกส่วนพื้นที่ให้ผู้สูงอายุ หากจากคนในบ้านประมาณ 2 เมตร อาจจะต้องใช้วิธีการวิดีโอคอล หรือโทรศัพท์คุยกันเพื่อไม่ให้ท่านรู้สึกอ้างว้าง

ทั้งนี้ สำหรับเคสผู้เสียชีวิตที่รวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 18 ก.ค.- 7 ส.ค. 64 จำนวน 2,417 ราย พบว่า มีกลุ่มเสียชีวิตที่ไม่ได้รับวัคซีน 838 ราย ค่อนข้างเป็นตัวเลขใหญ่ ขณะที่กลุ่มเสียชีวิตหลังจากได้รับวัคซีน 1 เข็ม ระยะติดเชื้อน้อยกว่า 2 สัปดาห์ 149 ราย และ ผู้ได้รับวัคซีน 1 เข็ม เกิน 2 สัปดาห์ มีการติดเชื้อเสียชีวิต 82 ราย และกลุ่มเสียชีวิตได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม 13 ราย เป็นตัวเลขที่เล็กที่สุด คิดเป็น 0.5%

“จึงเป็นข้อสำคัญ ที่ สธ.พยายามเน้นย้ำในการฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยติดเตียง หญิงตั้งครรภ์ และจะเห็นว่าแม้ติดเชื้อ เสียชีวิต คนที่ฉีดวัคซีนแล้วก็มีอัตราเพียง 0.5%” พญ.อภิสมัย กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น