xs
xsm
sm
md
lg

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ไม่แนะนำฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้เด็กที่แข็งแรง แนะผู้ใหญ่ใกล้ชิดฉีดวัคซีนเพื่อคุ้มครองเด็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ โรคโควิด-19 ในเด็ก (ฉบับที่ 2/2564) วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับเด็ก เพื่อลดความตระหนักในผู้ปกครอง เนื่องจากสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กยังไม่สูงเท่าผู้ใหญ่ โดยพบเด็กติดเชื้อ 12-13% และอัตราการเสียชีวิต 0.03% ทั้งนี้ เพื่อลดความตระหนกในผู้ปกครอง เพราะพ่อแม่รักลูก ย่อมอยากให้ลูกได้รับวัคซีนเป็นเครื่องป้องกัน ยิ่งวัคซีนมีน้อย ก็อยากจะเสียสละให้ลูก แต่หลักฐานทางวิชาการชัดเจนว่า อัตราการแพร่เชื้อในเด็กน้อย เด็กกับเด็กติดเชื้อกันเองแทบไม่มี เด็กไม่ใช่ตัวแพร่เชื้อ

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่การติดเชื้อในเด็กเกิดจากการติดในครอบครัว รับเชื้อจากผู้ใหญ่ ดังนั้นผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดเด็กต้องรับวัคซีน ทั้งพ่อแม่ ครู ส่วนเด็กที่มีโรคประจำตัว อ้วน เบาหวาน หรือที่ป่วยติดเตียง เหล่านี้ต้องรับวัคซีนเพื่อป้องกันอาการรุนแรงเท่านั้น เนื่องจากการติดเชื้อในเด็กส่วนใหญ่ไม่รุนแรง และไม่นานก็หายเป็นปกติ ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อโควิดในขณะที่มีการล็อกดาวน์ในหลายกิจกรรม มองว่า ต้องรอดูสถานการณ์ไปอีกระยะหนึ่ง มากกว่า 2 สัปดาห์ จนถึง 1  เดือน ถึงเวลานั้นหากคุมสถานการณ์ดี ก็จะส่งผลให้ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อลดลง

สำหรับรายละเอียดในแถลงการณ์ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เรื่องโรคโควิด-19 ในเด็ก (ฉบับที่ 2/2564) วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับเด็ก ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ระบุว่า โรคโควิด-19 โดยเฉพาะเชื้อเดลตา ทำให้มีการแพร่อย่างรวดเร็วในประเทศไทย ขณะนี้พบมีรายงานการติดโรคโควิด-19 ในผู้ป่วยเด็กเพิ่มสูงขึ้นกว่าการระบาดในระลอก 1 และระลอก 2 อย่างมาก จากข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ 1 เมษายน - 15 มิถุนายน 2564 พบเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปีติดโควิด-19 สะสม 13,608 ราย คิดเป็น 7.8% ของผู้ติดเชื้อทุกกลุ่มอายุ และมีผู้ป่วยเด็กเสียชีวิต 4 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 0.03% ทั้งหมดเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว และเมื่อติดตามข้อมูลจนถึง 13 กรกฎาคม 2564 พบเด็กติดเชื้อเพิ่มอย่างรวดเร็ว เป็น 33,020 ราย อัตราเด็กติดเชื้อสูงขึ้นเป็น 13.2% ของผู้ติดเชื้อทุกกลุ่มอายุ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของเด็กติดโควิด ในระยะ 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนถึงการระบาดในชุมชนและครอบครัวที่ยังควบคุมไม่ได้และมีแนวโน้มที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่ติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย

ขณะนี้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีข้อมูลรองรับถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป มีเพียงชนิดเดียว ได้แก่ วัคซีนชนิด mRNA ของไฟเซอร์ ซึ่งได้รับการรับรองให้ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่วันที่10 พฤษภาคม 2564 อย่างไรก็ตาม มีรายงานการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบภายหลังการฉีดในอัตราที่ต่ำมาก (8 ต่อ 1,000,000 คนที่ฉีด) ภายหลังจากได้รับวัคซีนในไม่กี่วัน ซึ่งมักพบในเพศชายอายุน้อยกว่า 30 ปี และพบหลังการฉีดเข็มสองมากกว่าเข็มแรก ผู้ป่วยส่วนใหญ่หายกลับคืนมาใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์นี้และติดตามข้อมูลต่อเนื่องอย่างใกล้ชิด วัคซีนนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประเทศไทยให้ใช้ในอายุ 12 ปีขึ้นไป เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2564 การนำเข้ายังอยู่ในระหว่างดำเนินการ

สำหรับวัคซีน Sinovac แม้จะมีการใช้ในประเทศจีนในเด็กอายุ 3-17 ปี จากการศึกษาวิจัยในระยะ 1 และ 2 พบว่ากระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี แต่ยังไม่มีข้อมูลเรื่องของประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กกลุ่มนี้ ในขณะนี้ยังมีการศึกษาวิจัยวัคซีนอีกหลายชนิดในผู้ป่วยเด็กในกลุ่มอายุต่าง ๆ ลงไปจนถึงอายุ 6 เดือน ซึ่งน่าจะมีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยออกมาเพิ่มเติมในอีกไม่นานนี้

ในภาพรวมยังพบการติดโรคโควิด-19 ในเด็กน้อยกว่าผู้ใหญ่ และผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 มักไม่รุนแรง ดังนั้น ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย จึงมีความเห็นสอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก โดยที่ยังไม่จัดให้เด็กปกติที่มีสุขภาพดีเป็นกลุ่มที่มีลำดับความสำคัญในอันดับต้นในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในขณะนี้

คำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยในขณะนี้ มีดังต่อไปนี้

1. ยังไม่แนะนำวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กทั่วไปที่แข็งแรงดีในขณะนี้จนกว่าจะมีวัคซีนที่มากขึ้น และมีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กเพิ่มเติม

2. แนะนำให้ฉีดวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองให้ใช้ในเด็ก ในกรณีผู้ป่วยเด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงของโรคโควิด-19 ที่รุนแรง เช่น โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และโรคเบาหวาน เป็นต้น

3. แนะนำให้ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดรับวัคซีน

4. แนะนำให้สร้างวินัยในการป้องกันตัวเอง เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือเว้น ระยะห่างให้แก่เด็กในทุกวัยและหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศไม่ถ่ายเท

5. แนะนำให้ผู้ปกครอง ทำงานที่บ้าน งดการเยี่ยมเยียนจากบุคคลภายนอก

ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ขอสนับสนุนให้มีการใช้มาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ในชุมชนอย่างเข้มงวด และการให้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงแก่ผู้ใหญ่ เพื่อคุ้มครองเด็กซึ่งยังไม่ได้รับวัคซีนในขณะนี้